Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 มิถุนายน 2548

ตลาดการเงิน

อัตราดอกเบี้ย Fed Funds คงจะขยับขึ้นเป็น 3.25% ปลายเดือนมิ.ย. นี้

คะแนนเฉลี่ย

เป็นที่คาดหมายกันว่า ในวันที่ 29-30 มิถุนายน 2548 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด คงจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% จาก 3.00% มาเป็น 3.25% ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นรอบที่ 9 ติดต่อกัน หลังจากที่เฟดได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% มาอย่างต่อเนื่องในการประชุม 8 รอบก่อนหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความสำคัญของการประชุมในรอบนี้ คงจะไม่ได้อยู่ที่ผลการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพียงลำพัง แต่คงจะขึ้นอยู่กับแถลงการณ์ภายหลังการประชุมซึ่งจะบ่งชี้ถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจและแนวโน้มการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปของเฟด หลังจากที่ตลาดเริ่มคาดคะเนว่าวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจมีแนวโน้มชะลอลงหรือเข้าใกล้จุดสิ้นสุดลงในไม่ช้านี้

จากการประเมินสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯจากเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ พบว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯจะไม่ได้ขยายตัวร้อนแรงมากเท่าที่คาด ขณะที่สัญญาณการชะลอลงของภาคการผลิตสหรัฐฯก็เริ่มมีความเด่นชัดมากขึ้นตามลำดับ แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนหลักจากการเติบโตที่ค่อนข้างแข็งแกร่งในภาคการบริการและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนการขยายตัวของตลาดแรงงาน ก็น่าที่จะสามารถรองรับการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่มีความเข้มงวดมากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟดได้ในระยะต่อไป ในขณะเดียวกัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟดก็น่าจะเป็นสิ่งที่มีความสมเหตุสมผลและเป็นผลดีต่อระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง โดยเฉพาะในภาวะที่แรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น จากราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง และการเติบโตของตลาดแรงงานที่อาจทำให้ต้นทุนค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ล่าสุดตลาดก็ได้มีการปรับตัวตอบรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ของเฟดในการประชุมปลายเดือน มิ.ย. นี้แล้วด้วยระดับความเป็นไปได้ 100% โดยนอกเหนือจากแถลงการณ์หลังการประชุมแล้ว การปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯในระยะข้างหน้า ทั้งการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะมีส่วนอย่างมากในการกำหนดแนวโน้มการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ผลกระทบต่อภาคการเงินไทย
  • อัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการไทย ในกรณีที่เฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมปลายเดือน มิ.ย. นี้ตามคาด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ประเด็นเรื่องค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯที่จะเพิ่มขึ้น อาจมีน้ำหนักมากขึ้นสำหรับการพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงและดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุลในปีนี้ อย่างไรก็ดี คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง การทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลในประเทศ รวมทั้งแนวโน้มการขยับขึ้นของราคาสินค้าทั่วไป คงจะยังเป็นปัจจัยกดดันแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงที่เหลือของปี และคงจะทำให้วัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังมีแนวโน้มต้องเดินหน้าต่อไปในระยะข้างหน้า
  • ค่าเงินบาท การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ตลอดจนแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีความสดใสมากกว่าเศรษฐกิจหลักอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ อาจจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เงินดอลลาร์ฯปรับตัวแข็งค่าขึ้น ในขณะที่ ความกังวลต่อฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของไทย รวมทั้งข่าวความเป็นไปได้ที่ธปท.อาจปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ อาจเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทต่อไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ดี ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เงินดอลลาร์ฯอาจพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ในระยะข้างหน้า จากการคาดการณ์ว่าวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯอาจจะสิ้นสุดลงในไม่ช้านี้ ในขณะที่ เงินบาทก็อาจได้รับแรงสนับสนุนหากภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาส 1/2548


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน