Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 ธันวาคม 2548

ตลาดการเงิน

แนวโน้มกองทุนรวม RMF และ LTF ปี 2549 และผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนแรกปี 2548

คะแนนเฉลี่ย

ภาวะการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนปีนี้ค่อนข้างทรงตัว ประกอบกับไม่มีการปรับเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในปีนี้ โดยทางการไม่มีนโยบายให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม ตามที่ภาคเอกชนเสนอขอให้ขยายเพดานเงินลงทุนที่นำมาลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นจาก 3 แสนบาท เป็น 5 แสนบาท หรือมากกว่า 15% ของเงินได้ ทำให้ปริมาณเม็ดเงินลงทุนใหม่ในปีนี้ และคาดว่าจะต่อเนื่องถึงปีหน้า คงจะค่อนข้างทรงตัวด้วยฐานผู้ลงทุนรายเดิมที่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูง ทำให้การแข่งขันระหว่างบริษัทจัดการลงทุนด้วยกันเอง มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด

โดยในปี 2548 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะมีการเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนของผู้ลงทุนบางส่วน จากการลงทุนผ่านกองทุน RMF มาเป็น LTF เพิ่มขึ้น แม้ว่าผลการดำเนินงานในรอบ 10 เดือนแรกของปี กองทุน LTF จะมียอดขายเพียง 2,216 ล้านบาท แต่เม็ดเงินลงทุนใหม่คงจะเข้ามาในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการตัดสินใจลงทุนขึ้นอยู่กับสิทธิประโยชน์เรื่องการลดหย่อนภาษี มากกว่าจะคำนึงถึงผลตอบแทนจากการลงทุน (หากคำนึงถึงผลตอบแทนจากการลงทุน น่าจะมีการซื้อกองทุนเข้ามามากในช่วงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯปรับตัวลดลง มากกว่าจะเป็นการซื้อในช่วงเดือนสุดท้ายของปี ที่ดัชนีตลาดฯมักปรับตัวเพิ่มขึ้น) และคงมีผลให้เม็ดเงินใหม่ที่ลงทุนในกองทุน RMF มีอัตราการเติบโตน้อยลงในปีนี้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในปี 2547 โดยยอดขายสุทธิของกองทุน RMF ในรอบ 10 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 1,483.15 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน 5.1%

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินลงทุนใหม่ทั้งปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว หรือมีการเปลี่ยนแปลงในทางเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากฐานลูกค้าเดิมซึ่งส่วนใหญ่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีในอัตราสูง จะเป็นกลุ่มที่ยังคงซื้อหน่วยลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด แต่การขยายฐานลูกค้าใหม่ให้ลงไปถึงผู้มีรายได้ปานกลาง และการกระตุ้นลูกค้ากลุ่มนี้ให้เกิดแรงจูงใจในการออมให้เต็มเพดาน ยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาวะการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนที่มีความผันผวน ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนยังไม่ชัดเจน ขณะที่ประโยชน์ที่จะได้รับจากการประหยัดภาษีอยู่ในอัตราประมาณ 10% ไม่สูงจูงใจเหมือนในกลุ่มผู้มีระดับรายได้สูงที่เสียภาษีอยู่ในช่วง 20-30%

ส่วนแนวโน้มการลงทุนในกองทุนทั้งสองประเภทในปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 4.5-5.0% จากประมาณการปีนี้ที่ 4.2-4.5% โดยมีระดับเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงตามราคาน้ำมัน ซึ่งน่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายในประเทศให้เพิ่มขึ้น และมีผลต่อเนื่องให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ อาจปรับเพิ่มขึ้นได้ถึง 1.5-2% จากระดับประมาณ 2.25% ในปีนี้ ขณะที่ภาคตลาดทุน ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนแลบรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้แนวโน้มการลงทุนในกองทุน RMF และ LTF ในปี 2549 ดังนี้
  1. NAV ของกองทุนทั้งสองประเภท น่าจะมีอัตราการเติบโตไม่มากนัก และขึ้นอยู่กับปริมาณเม็ดเงินลงทุนใหม่มากกว่า ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับที่เกิดขึ้นในปี 2548 โดยในส่วนของกองทุน LTF เป็นผลจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ค่อนข้างทรงตัวหรือปรับเพิ่มไม่โดดเด่น ในขณะที่กองทุน RMF นั้น เนื่องจากมีแนวโน้มว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีน้ำหนักอยู่ประมาณ 40% ในกองทุน RMF อาจจะประสบภาวะติดลบตามแรงกดดันดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น
  2. 2. ปริมาณเม็ดเงินลงทุนใหม่ หรือมูลค่าขายกองทุนสุทธิระหว่างปี 2549 สำหรับกองทุน LTF คาดว่าน่าจะทรงตัว หรือมีอัตราเปลี่ยนแปลงไม่มากนักหากไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทำให้เม็ดเงินใหม่ส่วนใหญ่จะมาจากฐานผู้ลงทุนรายเดิม ที่มีระดับรายได้สูงและได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีในอัตราสูง ส่วนการลงทุนใหม่ในกองทุน RMF นั้น คาดว่ากองทุนผสม จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และกลับมามีน้ำหนักการลงทุนสูงสุดอีกครั้ง ในภาวะที่กองทุนตราสารหนี้ยังได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ อย่างไรก็ตาม มูลค่าขายสุทธิในปี 2549 ของกองทุน RMF ก็น่าจะมีอัตราการเพิ่มไม่มากนัก เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนยังไม่เห็นเด่นชัด ขณะที่ยังไม่มีแรงจูงใจหรือสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอื่น

ดังนั้น การเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ คงเป็นความหวังเดียวของบริษัทจัดการลงทุน ที่จะรักษาระดับการเติบโตของกองทุน RMF ไว้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะใกล้ เนื่องจากเงื่อนไขการออมที่ผูกพันระยะยาว ทำให้ยากที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าระดับกลางและล่าง ที่ได้รับประโยชน์ทางภาษีน้อยตามขั้นภาษีเงินได้ ประกอบกับบริษัทจัดการลงทุนเอง ก็มีผลิตภัณฑ์กองทุนรวมทั่วไปให้เลือกลงทุนได้มากมาย จึงไม่จำเป็นที่จะต้องระดมทุนผ่านกองทุน RMF เพียงอย่างเดียว

สำหรับการลงทุนในกองทุน LTF ปี 2549 นั้น ต่างออกไปตรงที่ไม่มีข้อจำกัดเหมือน RMF ทำให้คาดว่าการลงทุนของกองทุน LTF น่าจะยังคงขยายตัวต่อไปได้อย่างน้อยอีก 2 ปี จนกว่าจะครบกำหนดไถ่ถอนของผู้ลงทุนที่ซื้อตั้งแต่ปีแรกที่มีการจัดตั้งกองทุน ซึ่งจะทยอยครบกำหนดในปี 2551 ตามกำหนดระยะเวลารับซื้อคืนของแต่ละกองทุน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน