Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 มกราคม 2549

ตลาดการเงิน

ผลประกอบการระบบแบงก์ไทยปี'48 : กำไรไตรมาสสุดท้ายชะลอตัวลง แต่ตลอดปีเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20%

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในไตรมาส 4/48 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะยังคงมีกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่อง แต่อาจเป็นขนาดที่ลดลงจากไตรมาส 3/48 โดยคาดว่ากำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย (หลังภาษี) ในไตรมาส 4/48 จะอยู่ที่ประมาณ 1.99 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการลดลงประมาณร้อยละ 16.74 จากที่ทำได้ 2.39 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3/48 แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว (ไตรมาส 4/47) กำไรสุทธิยังคงขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 52.88 โดยรายการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในงบกำไรขาดทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 4/48 เทียบกับไตรมาส 3/48 สามารถสรุปได้ดังนี้

- รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิในไตรมาส 4/48 คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 5.25 หมื่นล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.34 จากไตรมาสก่อนหน้า ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.79 ในไตรมาส 3/48 โดยถึงแม้ว่าในไตรมาส 4/48 รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการขยายสินเชื่อที่สูงกว่าเงินฝาก รายรับดอกเบี้ยจากตลาดเงินระยะสั้นที่ขยับเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. 2 ครั้งในช่วงระหว่างไตรมาส รวมทั้งการปรับตัวลดลงของเอ็นพีแอลที่คงจะช่วยเพิ่ม Yield ให้กับพอร์ตสินทรัพย์ของระบบธนาคารพาณิชย์ แต่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นมากจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในไตรมาส 3/48 ที่จะทยอยครบกำหนดและบังคับใช้อัตราดอกเบี้ยใหม่ที่สูงขึ้น รวมทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเพิ่มเติมอีกในระหว่างไตรมาส 4/48 ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดกลางหลายแห่ง จะขาดรายได้เงินปันผลของกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ที่มีเม็ดเงินรวมกว่า 1 พันล้านบาท จากที่เคยได้ในไตรมาส 3/48

- รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของไตรมาส 4/48 ที่คาดว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาส 3/48 อันมีสาเหตุจากปัจจัยด้านฤดูกาล ซึ่งปกติแล้ว ธนาคารพาณิชย์ จะมีค่าใช้จ่ายในด้านพนักงาน อาคารสถานที่และอุปกรณ์ ค่าธรรมเนียมและบริการจ่าย รวมถึงค่าภาษีอากร เพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี ขณะที่ กลุ่มธนาคารขนาดเล็ก อาจจะต้องบันทึกค่าใช้จ่ายสืบเนื่องจากการควบรวมกิจการและปรับสถานะตามนโยบายของ ธปท.

- ค่าใช้จ่ายในการกันสำรองคงจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยขยับขึ้นจาก 6.07 พันล้านบาทในไตรมาส 3/48 มาที่ประมาณ 8.6 พันล้านบาท เพื่อรับกับการปรับนโยบายการทำสำรองที่เข้มงวดขึ้นของบางธนาคาร และรับกับการขยายสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ทำได้ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะมีกำไรสุทธิ (หลังภาษี) ของไตรมาส 4/48 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.88 จากระดับกำไรสุทธิที่ 1.3 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 4/47 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากทุกกลุ่มธนาคาร ซึ่งเป็นภาพเดียวกับทิศทางของผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยสำหรับทั้งปี 2548 ที่คาดการณ์ว่าจะมีกำไรสุทธิ (หลังภาษี) ที่ประมาณ 9.25 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโตจากของปี 2547 ประมาณร้อยละ 19.66 โดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ (หลังภาษี) ประมาณ 7.56 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.08 จากปี 2547) กลุ่มธนาคารขนาดกลางคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ (หลังภาษี) ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท (เติบโตร้อยละ 19.66 จากปี 2547) และกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก ประมาณว่าจะมีกำไรสุทธิ (หลังภาษี) ที่ 3.94 พันล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 76.1 จากปี 2547)

สำหรับในปี 2549 นี้ คาดว่าจะเป็นปีที่ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย อาจต้องเผชิญปัจจัยลบมากขึ้นจากปีก่อนหน้า อาทิ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดกลางซึ่งจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเต็มปี ที่คงจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 แห่ง เป็น 5 แห่ง (ไม่นับรวมธนาคารพาณิชย์อีกหลายแห่ง ที่อาจต้องเริ่มเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลบางส่วน) นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ยังอาจขยายตัวต่อเนื่อง จากการลงทุนในระบบเทคโนโลยี และการเร่งขยายสาขา ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ธนาคารพาณิชย์ไทยเลือกใช้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับคู่แข่งจากต่างชาติที่อาจมีบทบาทมากขึ้นเมื่อการเปิดเสรีภาคการเงินมีความคืบหน้าและมีผลบังคับใช้ในอนาคต

ที่สำคัญ ทิศทางกำไรสุทธิคงจะถูกกำหนดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทย และความรวดเร็วของการปรับลดลงของสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยในกรณีที่สภาพคล่อง โดยเฉพาะของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ปรับตัวลดลงมากพอ จนนำมาสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ คาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2549 มีโอกาสที่จะลดลงจากปี 2548 อันจะเป็นปัจจัยที่จำกัดการขยายตัวของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามมา นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ผลพวงของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาวในปี 2548 ที่ผ่านมา ต่อต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายคงจะมีความเด่นชัดขึ้นในปี 2549 ขณะที่ ขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ คงจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความเสี่ยงต่อปัญหาคุณภาพหนี้มากขึ้นด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน