Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 กันยายน 2548

ตลาดการเงิน

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50%: ข้อสังเกตและผลกระทบ

คะแนนเฉลี่ย

ในวันที่ 7 กันยายน 2548 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee: MPC) ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันอีก 0.50% จาก 2.75% มาเป็น 3.25% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยขนาดที่มากกว่าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะปรับขึ้นเพียง 0.25% เท่านั้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตต่อการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ของธปท.ในการประชุมรอบที่ผ่านมาว่า เหตุผลหลักของการดำเนินการดังกล่าวน่าจะมาจากการที่ธปท.เล็งเห็นว่าความเสี่ยงทางด้านอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอาจมีแนวโน้มจะดำรงอยู่ต่อเนื่องไปอีก 2-3 ไตรมาสข้างหน้า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอาจขยับสูงถึง 5.5-6.5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ และมีแนวโน้มที่ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 4.0-5.0% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของธปท.ที่มีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะยังคงไปได้ดีในช่วงที่เหลือของปีนี้ ตลอดจน ความต้องการที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยในประเทศขยับสูงขึ้นเพื่อผลักดันให้ระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเพิ่มขึ้นตามมา ก็เป็นเหตุผลที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ของธปท.ในครั้งนี้ด้วย ในขณะที่ สัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจนนี้ คาดว่าจะเพิ่มความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามมาของระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่เหลือของปี โดยที่ขนาดและประเภทของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก คงจะขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะทางด้านโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินซึ่งแต่ละธนาคารคงจะพิจารณาไปตามความเหมาะสมของตนเองเป็นหลักด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณนโยบายอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่ชัดเจนของธปท. อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนภายในประเทศ ผ่านการรับรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชน โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมคงจะมีเพิ่มขึ้นเมื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นเป็นการทั่วไปแล้วในอนาคต ในขณะที่ ในระยะสั้นนี้ ค่าเงินบาทและดัชนีหุ้นไทยโดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มธนาคาร ตอบรับข่าวนี้ในเชิงบวก ตรงกันข้ามกับตลาดตราสารหนี้ที่ตอบรับข่าวนี้ในเชิงลบ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทคงจะกลับมาให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานโดยเฉพาะทิศทางค่าเงินสกุลหลักในภูมิภาค รวมทั้งเงินดอลลาร์ฯเป็นหลัก ส่วนการปรับตัวของดัชนีหุ้นไทยคงจะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการเลือกรับข่าวของนักลงทุน ด้านตลาดตราสารหนี้นั้น ความไม่มั่นใจของตลาดที่มีมากขึ้นต่อขนาดหรืออัตราเร่งของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท.ในระยะข้างหน้า คงจะทำให้ตลาดเคลื่อนไหวในลักษณะที่ค่อนข้างระมัดระวัง โดยคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรคงจะทยอยปรับสูงขึ้นรับการคาดการณ์แนวโน้มขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ขณะที่ความต้องการลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นที่ยังมีอยู่มากอาจจะช่วยประคับประคองให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเร่งสูงขึ้นได้ไม่มากอย่างที่ควรจะเป็น

สำหรับการประชุม MPC 2 รอบที่เหลือในปีนี้ (วันที่ 19 ตุลาคม และ 14 ธันวาคม) นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ของธปท.ในการประชุมวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นการผูกมัดว่าธปท.จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยขนาดที่เท่ากันในการประชุมอีก 2 รอบที่เหลือของปีนี้ โดยเชื่อว่า ธปท.คงจะมีการติดตามและประเมินสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด (โดยเฉพาะทิศทางอัตราเงินเฟ้อ) ซึ่งธปท.ก็ยังคงมีทางเลือกในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยไปตามความเหมาะสมกับจังหวะและสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีตามที่คาดหวังได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธปท.คงจะยังเดินหน้าเพิ่มความเข้มงวดของนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาและอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งเพื่อผลักดันระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงให้กลับมามีค่าเป็นบวก โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันของไทยอาจมีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ระดับ 4.00-4.25% ณ ปลายปี 2548 นี้ เพิ่มขึ้นจาก 3.50% ตามประมาณการเดิม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน