Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 มีนาคม 2549

ตลาดการเงิน

การแข่งขันด้านราคาระหว่างธนาคารพาณิชย์ไทย ... ปัจจัยบวกในระยะสั้นต่อความสามารถในการทำกำไร

คะแนนเฉลี่ย

นับตั้งแต่ต้นปี 2549 ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินให้กู้ยืมแล้ว หลายรอบ โดยลำพังเดือนมีนาคมเดือนเดียวนั้น ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 3 รอบ ถึงแม้ว่า จากข้อมูลล่าสุดในเดือนมกราคม 2549 สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย และธนาคารพาณิชย์ที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น จะไม่ได้มีสัญญาณการตึงตัวที่ชัดเจนก็ตาม ดังนั้น จึงทำให้เชื่อว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว น่าจะสะท้อนการแข่งขันด้านราคาระหว่างธนาคารพาณิชย์เพื่อจุดประสงค์ในการรักษาฐานลูกค้า รวมทั้งล็อกต้นทุนดอกเบี้ยราคาถูกมากกว่า และจนถึงขณะนี้ พฤติกรรมการแข่งขันด้านราคา ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงเมื่อใด

หากประเมินเฉพาะผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (โดยเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ซึ่งมีส่วนแบ่งในตลาดสูง) ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549 ที่ผ่านมา พบว่าจะช่วยให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 4.07 พันล้านบาทต่อปี และมีผลในการช่วยเพิ่มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ประมาณร้อยละ 0.08 เนื่องจากสามารถผลักภาระจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภทตั้งแต่ 1 ปีที่ยังไม่ครบรอบบัญชีภายในปี 2549 นี้ ซึ่งมีต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายคิดเป็นเงินประมาณ 9.4-11.8 พันล้านบาทไปในปีถัดไปได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อผนวกผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 3 เดือนถึง 1 ปีของธนาคารพาณิชย์ไทยประมาณร้อยละ 0.5-1.85 ในปี 2548 ซึ่งจะทยอยส่งผลกระทบต่อต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายตลอดทั้งปี 2549 อีกทั้ง การคาดการณ์ที่เชื่อว่าการเติบโตของสินเชื่อดีในปี 2549 จะชะลอตัวลงตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งจากปัญหาการเมืองในประเทศ ที่ทำให้การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐต้องล่าช้าออกไปนั้น จะพบว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2549 คงจะไม่ได้ดีขึ้นจากปี 2548 มากนัก โดยในกรณีที่กำหนดให้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ 4 แห่ง สำหรับเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน และ 24 เดือน (กรอบต่ำสุด) เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.5-1.0 จากปัจจุบัน (16 มีนาคม) มาที่ร้อยละ 3.50, 3.75, 4.25 และ 4.75 ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2549 และไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR อาจได้รับการปรับขึ้นจากปัจจุบันอีกร้อยละ 0.5-0.75 มาที่ร้อยละ 7.75 ณ สิ้นปี 2549 เนื่องจากเชื่อว่าจะเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สภาพคล่อง และการปล่อยสินเชื่อในปัจจุบันนั้น จะได้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของปี 2549 ที่ประมาณร้อยละ 3.11 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.09 เช่นเดียวกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.29 จากปี 2548 มาที่ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงจากที่เคยเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 ในปีก่อนหน้า นั่นหมายความว่า ตราบใดที่ธนาคารพาณิชย์ไทยยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์การปล่อยสินเชื่อยังขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ สถานการณ์ที่การเติบโตของความสามารถในการทำกำไรค่อนข้างจำกัดดังกล่าว ยังมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำอีกในปีถัดๆ ไป

ประมาณการข้างต้น ยังไม่นับรวมโอกาสที่สงครามราคาอาจผลักดันให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในลักษณะที่รุนแรงขึ้นอีก โดยในกรณีที่การแย่งชิงเงินฝากรุนแรงมากจนนำมาสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ประมาณร้อยละ 0.25 และ 0.50 นั้น จะได้ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะลดลงจากร้อยละ 3.11 มาที่ร้อยละ 3.07 และ 2.99 ตามลำดับ ซึ่งล้วนแต่ต่ำกว่าของปี 2548 ที่ร้อยละ 3.09 นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ แต่ถ้าสงครามราคากระตุ้นให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ พร้อมๆ กับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อย่างต่อเนื่อง จนภาระต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นเหนือความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ ดังเช่นในช่วงวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในระหว่างปี 2531-2534 และ 2537-2538 แล้ว ก็อาจจบลงด้วยภาวะการชะลอตัวของสินเชื่อและเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จนเกินระดับที่เหมาะสม (Overshooting) อันจะย้อนกลับมาทำให้ฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์แย่ลงได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน