Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 มีนาคม 2549

ตลาดการเงิน

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย : โจทย์ท้าทายสำหรับธนาคารพาณิชย์

คะแนนเฉลี่ย

การเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเป็นภารกิจหนึ่งของธนาคารพาณิชย์ ท่ามกลางกระแสการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง และการเพิ่มบทบาทการดำเนินธุรกิจของสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคาร รวมไปถึงการเตรียมพร้อมเพื่อแข่งขันกับสถาบันการเงินต่างประเทศ หลังการเปิดเสรีทางการเงิน โดยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยช่วยลดความไม่แน่นอนของกระแสรายได้รวม เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับสภาวะเศรษฐกิจในระดับที่ต่ำกว่ารายได้จากดอกเบี้ย ในขณะเดียวกัน รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยยังเป็นแหล่งรายได้ที่ไม่สร้างภาระให้แก่ธนาคารในเรื่องการกันสำรอง และการดำรงระดับเงินกองทุน เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต ดังเช่นการปล่อยสินเชื่อ

อย่างไรก็ดี ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า ในปี 2548 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของระบบธนาคารมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 30% ของรายได้รวม โดยธนาคารพาณิชย์ไทย ยังคงมีโครงสร้างการดำเนินธุรกิจที่มีรายได้หลักมาจากรายได้ดอกเบี้ย จากสัดส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ไม่ถึง 30% ในปี 2548 โดยธนาคารพาณิชย์ไทยมีอัตราการขยายตัวของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ในช่วงปี 2541-2548 อยู่ที่ 2.11% ในขณะที่สาขาธนาคารต่างประเทศ มีสัดส่วนของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้รวม ที่มากกว่า 50% และมีการขยายตัวของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ 8.27%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการขยายตัวของธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ระหว่างปี 2540-2548 ธนาคารพาณิชย์ไทยมีการขยายตัวของค่าธรรมเนียมโอนเงินเรียกเก็บเงิน ค่าธรรมเนียม ATM และธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ และค่าธรรมเนียมและบริการอื่นๆ อยู่ในระดับสูง สะท้อนให้เห็นว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจ ธุรกิจบริการจัดการเงินสด (Cash Management) การทำธุรกรรมฝาก-ถอนเงินของลูกค้ารายย่อย ผลิตภัณฑ์ ATM และธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทยมีการขยายตัว ในขณะที่สาขาธนาคารต่างประเทศมีการขยายตัวของรายได้จากการปริวรรตเงินตรา ค่าธรรมเนียมการออก L/C และค่าธรรมเนียมและบริการอื่นๆ อยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ หากทำการเปรียบเทียบระหว่าง 2 กลุ่มธนาคาร จะพบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยมีสัดส่วนค่าธรรมเนียม ATM และธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ และค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับเช็ค ต่อสินทรัพย์ สูงกว่าสาขาธนาคารต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากความได้เปรียบในเรื่องของเครือข่ายสาขา ในขณะที่สาขาธนาคารต่างประเทศ มีสัดส่วนค่าธรรมเนียมดูแลรักษาหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมการออก L/C ค่าธรรมเนียมและบริการอื่นๆ นอกเหนือไปจากรายได้จากการปริวรรตเงินตรา และรายได้ประเภทอื่นๆ ต่อสินทรัพย์สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งทั้งหมดคาดว่าเกิดจากความได้เปรียบของธนาคารกลุ่มนี้ ที่มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการแก่ลูกค้ารายใหญ่ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ส่งผลให้สาขาธนาคารต่างประเทศ มีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อสินทรัพย์สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ไทย อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทยหลายรายการ สามารถพลิกกลับมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าสาขาธนาคารต่างประเทศได้ ซึ่งได้แก่ ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต (ตั้งแต่ปี 2546) ค่าธรรมเนียมโอนเงินและเรียกเก็บเงิน (ตั้งแต่ปี 2547) ค่าธรรมเนียมที่ปรึกษา (ตั้งแต่ปี 2547) ค่าธรรมเนียมการจัดการ (ตั้งแต่ปี 2545) และค่าธรรมเนียมการออก จำหน่าย และค้าตราสารหนี้ (ตั้งแต่ปี 2547) สะท้อนให้เห็นถึงการหันมามุ่งเน้นรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย และการเพิ่มความสามารถการแข่งขันในหลายธุรกิจ ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย ในขณะที่ในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยมีแนวโน้มที่จะสามารถเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อสินทรัพย์ในหลายรายการ ให้สูงกว่าสาขาธนาคารต่างประเทศได้ ซึ่งได้แก่ ค่าธรรมเนียมและบริการอื่นๆ (จากการเติบโตของธุรกิจแบงก์แอสชัวรันช์) ค่าธรรมเนียมการออก จำหน่าย และค้าตราสารหนี้ รายได้จากการปริวรรตเงินตรา และค่าธรรมเนียมการออก L/C หลังการเร่งเพิ่มศักยภาพของธนาคารกลุ่มนี้ เพื่อเป็น Universal Banking

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของระบบธนาคารในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ การมุ่งเน้นธุรกิจรายย่อย ที่นำไปสู่การขยายบริการ และผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม ในขณะที่การอนุญาตทำธุรกรรมทางการเงินส่วนใหญ่ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังคงไม่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอย่างชัดเจนนัก เนื่องจากเป็นช่วงเตรียมการขยายธุรกิจของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง

อนึ่ง หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีความสัมพันธ์กับ GDP และรายได้จากดอกเบี้ยในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากที่ธนาคารพาณิชย์หันมาขายไขว้ (Cross selling) และนำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ Bundled Products ส่งผลให้ลูกค้าเพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคาร นอกเหนือไปจากการขอสินเชื่อ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการขยายตัวของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยกับ GDP และการขยายตัวของสินเชื่อ น่าจะยังคงมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารยังคงเดินหน้ามุ่งเน้นการขายไขว้ (Cross-selling) และการเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปของ Bundled Products ให้แก่ลูกค้าธนาคารต่อไป ในขณะเดียวกัน คาดว่า ธนาคารก็คงจะหาช่องทางใหม่ๆ ในการขายผลิตภัณฑ์ หรือกระตุ้นการทำธุรกรรมของลูกค้ารายใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยทำหน้าที่เสริมรายได้จากดอกเบี้ยได้ดียิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากปัจจัยอื่นๆ ที่จะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มรายได้ทิ่มิใช่ดอกเบี้ย ซึ่งได้แก่ การเพิ่มความรู้ความสามารถในการขายของพนักงาน การสร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเพิ่มช่องทางเพิ่มรายได้แก่ธนาคาร และการสามารถเป็นธนาคารที่นำเสนอบริการทางการเงินได้อย่างครบวงจร (Universal Banking)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ในปี 2549 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จะอยู่ที่ 115,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว 9.48% ชะลอลงจากที่ 105,600 ในปี 2548 ที่อัตราการขยายตัว 15.89% ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัวมาอยู่ที่ 4-4.5% อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่น่าจะเป็นตัวสำคัญในการเพิ่มรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยใน 1-3 ปีข้างหน้า น่าจะได้แก่ ค่าธรรมเนียมการออก จำหน่าย และค้าตราสารหนี้ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากความต้องการหุ้นกู้ ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ค่าธรรมเนียมการออก L/C และรายได้จากการปริวรรตเงินตรา ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของธุรกรรมทางการค้าระหว่างประเทศ ค่าธรรมเนียม ATM และธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ จากการแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ แก่ลูกค้ารายย่อย รวมไปถึงค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่คงเร่งปรับตัวขึ้น ตอบสนองความพยายามเป็นธนาคารเต็มรูปแบบ (Universal Banking) ซึ่งได้แก่ ค่าธรรมเนียมจากการขายประกัน ค่าธรรมเนียมนายหน้าการขายหน่วยลงทุน รวมไปถึงการพัฒนาการให้บริการอื่นๆ (Facilitators) ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ระบบงาน หรือเป็น Back Office ให้แก่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน