Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 ตุลาคม 2548

ตลาดการเงิน

ข่าวการเสนอชื่อประธานเฟดคนใหม่ : การปรับตัวของตลาดเงินและตลาดทุน

คะแนนเฉลี่ย

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2548 เวลาประมาณ 13.00 น. ตามเวลาในสหรัฐฯ ประธานาธิบดีจอร์ช ดับเบิ้ลยู บุช ของสหรัฐฯ ได้ประกาศเสนอชื่อนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของทำเนียบขาว ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แทนนายอลัน กรีนสแปน ซึ่งจะหมดวาระลงในวันที่ 31 มกราคม 2549 ทั้งนี้ ในวันที่ 24-25 ตุลาคมที่ผ่านมา ตลาดเงินและตลาดทุนสหรัฐฯมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อข่าวดังกล่าวในทิศทางที่ค่อนข้างจะหลากหลาย โดยเงินดอลลาร์ฯปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินเยนและเงินยูโร ขณะที่ ดัชนีหุ้นสหรัฐฯตอบรับข่าวนี้ด้วยการปรับขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคม ก่อนที่แรงขายทำกำไรทางด้านเทคนิคจะมีผลให้ดัชนีหุ้นปิดลดลงในวันที่ 25 ตุลาคม ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯตอบรับข่าวนี้ด้วยการปรับสูงขึ้นต่อเนื่องในวันที่ 24-25 ตุลาคม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ปฏิกิริยาตอบสนองของตลาดเงินและตลาดทุนสหรัฐฯที่ออกมาในทิศทางที่ค่อนข้างหลากหลาย (แม้อาจจะไม่ได้เป็นเพราะปัจจัยการเสนอชื่อประธานเฟดคนใหม่เพียงปัจจัยเดียวก็ตาม) อาจเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนว่าตลาดมีความกังวลหรือไม่มั่นใจต่อจุดยืนของประธานเฟดคนใหม่ว่าจะดำเนินนโยบายการเงินโดยโน้มเอียงไปที่เป้าหมายใดมากกว่ากันระหว่างเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อและเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจซึ่งจะสนับสนุนให้อัตราการว่างงานมีระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นแล้ว การที่นายกรีนสแปนจะยังคงอยู่ในตำแหน่งประธานเฟดต่อไปอีก 3 เดือน รวมทั้ง การที่นายเบอร์นันเก้ระบุว่าจะยังคงรักษาความต่อเนื่องด้านนโยบายของนายกรีนสแปนไว้ ตลอดจน การที่เฟดน่าจะอยากให้การปรับตัวของตลาดเงินและตลาดทุนเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่ผันผวนจนเกินไปในช่วงการเปลี่ยนผ่านของตำแหน่งประธานเฟด ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะ 3 เดือนข้างหน้า คงจะมีทิศทางที่ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากการคาดการณ์เดิมของตลาดที่คาดว่าเฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็คงจะส่งผลตามมาให้ตลาดเงินและตลาดทุนของสหรัฐฯหันกลับมาให้น้ำหนักกับประเด็นแวดล้อมทางเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ ข้อมูลเศรษฐกิจหลักต่างๆ ของสหรัฐฯ โดยที่ตลาดก็คงจะยังจับตาท่าทีหรือมุมมองของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับในระยะปานกลางและระยะยาวนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า นอกเหนือจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศแล้ว แนวโน้มการปรับตัวของตลาดเงินและตลาดทุนของสหรัฐฯ คงจะขึ้นอยู่กับ การสร้างความน่าเชื่อถือในนโยบายหรือจุดยืนของประธานเฟดคนใหม่ว่าจะสามารถนำพาให้เฟดเป็นสถาบันที่มีความโปร่งใสและมีอิสระจากการแทรกแซงทางการเมืองได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการพิสูจน์บทบาทของประธานเฟดคนใหม่นี้ ดังนั้น ในช่วงระหว่างกาล ทิศทางตลาดเงินและตลาดทุนของสหรัฐฯอาจมีแนวโน้มที่จะปรับตัวในลักษณะค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คงจะหลีกไม่พ้นที่ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จะได้รับอิทธิพลจากการปรับตัวดังกล่าวไปด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน