Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 เมษายน 2549

ตลาดการเงิน

สงครามราคาอัตราดอกเบี้ย ... จับตาจุดเปลี่ยนหลังอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสูงสุดแล้ว

คะแนนเฉลี่ย

ในไตรมาสแรกของปี 2549 ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีการแข่งขันช่วงชิงจังหวะความได้เปรียบด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเข้มข้น และล่าสุดได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษที่มีอายุครบกำหนดแตกต่างไปจากรอบปกติ อีกทั้งมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าโครงสร้างเงินฝากทั่วไป ตลอดจนอัตราผลตอบแทนในตลาดซื้อคืนพันธบัตรประเภท 14 วันของธปท.แล้ว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแบบพิเศษดังกล่าว ช่วยให้ธนาคารพาณิชย์หลบหลีกผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาที่อาจนำมาสู่ความจำเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเป็นการทั่วไป (ขึ้นทุกประเภท) อันจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของธนาคารในวงกว้างได้ ขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้สามารถรักษาฐานลูกค้าเงินฝากไว้ได้เช่นกัน โดยการไฟแนนซ์ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายจากผลิตภัณฑ์เงินออมราคาแพงนี้ คาดว่าส่วนที่สำคัญจะมาจากรายได้จากสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากทั้งในและนอกประเทศ โดยในขณะนี้ ตลาดยังคาดหมายขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันของธปท. และอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีกร้อยละ 0.25-0.50 ภายในกลางปี 2549 อันหมายความถึงเม็ดเงินส่วนเพิ่มอีกประมาณ 4.1-8.2 พันล้านบาทต่อปี ที่จะสามารถนำไปใช้ชดเชยต้นทุนผูกพันจากสงครามราคานี้ได้

สำหรับแนวโน้มการแข่งขันด้านราคาในระยะต่อไปนั้น เนื่องจากเป็นที่คาดหมายว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและต่างประเทศ จะยังคงอยู่ในจังหวะขาขึ้นจนถึงกลางปี 2549 นี้ อันจะเป็นผลดีต่อพอร์ตเงินลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น จึงคาดว่าการแข่งขันด้านราคาระหว่างธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาจยังคงเข้มข้นต่อไปในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 โดยอาจเห็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากในรูปแบบและเงื่อนไขที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายคงผ่านจุดสูงสุดแล้วนั้น คาดว่าสงครามราคาน่าจะลดความเข้มข้นลง เพราะธนาคารพาณิชย์คงจะสามารถพึ่งพิงรายรับส่วนเพิ่มจากเงินลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อมาช่วยชดเชยผลลบจากสงครามราคานี้ ได้ลดลง ส่งผลให้การสู้ราคาจะขึ้นอยู่กับการขยายตัวของสินเชื่อ ทำให้ในที่สุดแล้ว แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ผ่านจุดสูงสุดแล้วนั้น จะถูกกำหนดโดยภาวะเศรษฐกิจจริง และความสามารถในการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก แตกต่างไปจากในช่วงก่อนที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปที่ระดับสูงสุดซึ่งธนาคารได้รับผลกำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องมาชดเชยต้นทุนจากการแข่งขันด้านราคา

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน