Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 เมษายน 2549

ตลาดการเงิน

ประมาณการผลประกอบการแบงก์ไทยไตรมาส 1/49: ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนแต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำประมาณการผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจำนวน 11 แห่ง (ยังไม่รวมธนาคารพาณิชย์รายใหม่ที่เพิ่งปรับสถานะมาจากบริษัทเงินทุนจำนวน 3 แห่ง) โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มธนาคาร ได้แก่ กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ กลุ่มธนาคารขนาดกลาง และกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก ซึ่งการประมาณการจะอ้างอิงจากข้อมูลตามงบการเงินรวม และข้อมูลรายธนาคารที่เกี่ยวข้อง

สำหรับในไตรมาส 1/49 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีกำไรสุทธิ (หลังภาษี) จำนวนประมาณ 2.43 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/48 ร้อยละ 37.90 เนื่องจากคาดว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นได้เล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ถึงแม้ว่าในไตรมาส 1/49 เงินฝากอาจขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าเงินให้สินเชื่อค่อนข้างมากก็ตาม ทั้งนี้ ปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 1/49 นี้ ได้แก่ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งสองขาของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ช่วยรักษาความสามารถในการทำกำไรไว้ได้ในระดับหนึ่ง การที่ธนาคารพาณิชย์ไทยยังสามารถนำสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของเงินฝากที่มากกว่าการขยายตัวของสินเชื่อดังกล่าวไปลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นเพื่อรับอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งของไทยและต่างประเทศ ตลอดจน การจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 เป็นเม็ดเงินรวมประมาณ 1.5-2.0 พันล้านบาท นอกเหนือจากนั้น คาดว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ยังน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารขนาดใหญ่และธนาคารขนาดกลางหลายแห่ง คงจะบันทึกกำไรจากการขายเงินลงทุนและการขายหุ้นของบริษัทเอกชนในพอร์ต เป็นพิเศษในไตรมาส 1/49 นี้ ประกอบกับ ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยหลายรายการ คงจะปรับตัวลดลงจากปัจจัยด้านฤดูกาล เช่นเดียวกัน ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองคาดว่าจะปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 28 จากไตรมาส 4/48 มาที่ประมาณ 6.1 พันล้านบาทในไตรมาส 1/49 หลังจากที่ธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลางหลายแห่งได้ตั้งสำรองเป็นพิเศษในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย จะได้ว่า กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ คาดว่าจะรายงานกำไรสุทธิ (หลังภาษี) ประมาณ 1.94 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/49 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณร้อยละ 44.79 โดยแม้ว่าอาจต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า แต่การลดลงของค่าใช้จ่ายในการกันสำรอง ผนวกกับการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิ (อันเป็นผลจากกำไรจากเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ) น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อฐานะทางการเงิน สำหรับกลุ่มธนาคารขนาดกลาง คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ (หลังภาษี) จำนวนประมาณ 3.64 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณร้อยละ 16.94 จากไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับ กลุ่มธนาคารขนาดเล็ก ที่คาดว่าจะรายงานกำไรสุทธิ (หลังภาษี) ประมาณ 1.29 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.26 จากไตรมาสก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนนั้น คาดว่ากำไรสุทธิ (หลังภาษี) ของไตรมาส 1/49 อาจลดลงประมาณร้อยละ 3.73 จากที่เคยมีกำไรสุทธิ 2.52 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/48 ซึ่งสาเหตุหลัก มาจากการที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นจำนวนกว่าสามเท่าตัวจากไตรมาส 1/48 หลังจากที่การยกเว้นทางภาษี (Tax Shield) ของธนาคารหลายแห่งหมดลงและทำให้จะต้องเริ่มเสียภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในปี 2549 นี้ ทั้งนี้ เนื่องจากธนาคารที่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นดังกล่าว จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่มากที่สุด ดังนั้น จึงทำให้กำไรสุทธิของธนาคารกลุ่มนี้ น่าจะต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ อีกสองกลุ่มธนาคารที่เหลือที่ได้รับผลกระทบจากภาระด้านภาษีไม่มากนัก น่าจะมีแนวโน้มกำไรสุทธิของไตรมาส 1/49 ที่ยังเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/48 ได้

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่เหลือของปี 2549 นั้น ถึงแม้ในภาพรวมแล้ว ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจยังสามารถรายงานผลประกอบการที่มีกำไรอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1/49 แต่ปัจจัยเสี่ยงในที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้ คือ การแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงรุนแรง ซึ่งย่อมจะกดดันความสามารถในการทำกำไรในระยะต่อไป นอกจากนี้ ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแรง อีกปัจจัยเสี่ยงที่จะตามมา คือ การชะลอตัวของความต้องการสินเชื่อ และปัญหาหนี้เสีย โดยเฉพาะจากหนี้เอ็นพีแอลรายใหม่ ซึ่งการเตรียมรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าว ถือเป็นโจทย์ด้านการดำเนินงานในระยะสั้นที่ท้าทายอย่างยิ่ง ในขณะที่ ธนาคารพาณิชย์เอง ก็กำลังอยู่ระหว่างการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันระยะยาวด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจ ระบบเทคโนโลยี ระบบการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนทรัพยากรบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับการบังคับใช้โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ๆ ในอนาคต อาทิ มาตรฐานบัญชีการบัญชีระหว่างประเทศฉบับใหม่ที่ 39 (IAS 39) หลักเกณฑ์เงินกองทุนใหม่ (Basel II) หลักเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม (Consolidated Supervision) ตลอดจน ผลกระทบสืบเนื่องจากการเตรียมเปิดเสรีภาคบริการของทางการในอนาคต ทำให้ในภาพรวมแล้ว ปี 2549 น่าจะเป็นปีที่ค่อนข้างหนักสำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน