Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 พฤษภาคม 2549

ตลาดการเงิน

ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ยังเหลือของปีนี้ ... รอลุ้นกระแสเงินลงทุนจากต่างชาติรอบใหม่

คะแนนเฉลี่ย

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างมากถึงประมาณร้อยละ 10 ภายในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไปปิดที่ 701.03 จุด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม ซึ่งถือเป็นระดับปิดที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2548 ซึ่งปิดที่ 698.95 จุด ทั้งนี้ ดัชนีได้สูญเสียแรงบวกที่เคยทำไว้ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2549 โดยปรับตัวลงร้อยละ 1.78 เมื่อเทียบจากระดับปิด ณ.สิ้นปี 2548 การที่ดัชนีปรับตัวลงค่อนข้างแรงดังกล่าว เป็นผลมาจากการขายสุทธิอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีมูลค่าที่สูงถึงประมาณ 3.35 หมื่นล้านบาทในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา (ส่งผลให้ยอดการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม อยู่ที่ 8.18 หมื่นล้านบาท) อย่างไรก็ตาม การปรับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เนื่องจากตลาดหุ้นทั่วโลกล้วนแล้วแต่มีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน โดยในช่วงก่อนหน้านั้น ตลาดหุ้นของหลายประเทศได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากช่วงต้นปี จึงส่งผลให้คาดว่านักลงทุนต่างชาติ เช่น กองทุนต่างๆ ได้อาศัยจังหวะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขายทำกำไรที่ได้รับจากการลงทุนในตลาดหุ้น พร้อมทั้งมีการโยกเงินลงทุนไปยังตลาดพันธบัตรซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่า พร้อมกันนั้น การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนเพื่อรอซื้อหุ้น IPO ขนาดใหญ่ในต่างประเทศ เช่น หุ้นของ Bank of China และหุ้นของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ก็มีส่วนทำให้เกิดการขายหุ้นออกมาเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มของตลาดหุ้นในช่วงที่ยังเหลือของปีนี้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่ในระยะต่อไปจะมีกระแสเงินลงทุนไหลเข้ามาในเอเชียอีกรอบหนึ่งจากแนว โน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ในเอเชีย เช่น จีน ยังมีการขยายตัวในระดับสูง ตลอดจน เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่น่าจะฟื้นตัวขึ้นจากในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนแนวโน้มของค่าเงินและตลาดหุ้นในภูมิภาคด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ มูลค่าเงินลงทุนจากต่างชาติในรอบใหม่นั้น จะเข้ามายังตลาดหุ้นไทยมากหรือน้อยเพียงใด และจะมีส่วนช่วยหนุนการปรับตัวของตลาดหุ้นไทยให้สามารถปิดเพิ่มขึ้นได้จากในปีที่ผ่านมาหรือไม่นั้น คงจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยแนวโน้มของตลาดหุ้นนับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป อาจจะได้รับปัจจัยบวก จาก การที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีราคาค่อนข้างต่ำ จึงน่าจะเป็นโอกาสในการกลับเข้าซื้ออีกครั้ง อีกทั้งค่า P/E ของตลาดหุ้นไทยยังคงต่ำเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค ในขณะที่มี Dividend Yield ในระดับที่น่าพอใจ ปัจจัยลบหลายประการที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ได้เป็นที่รับรู้ของนักลงทุนในตลาด และสะท้อนอยู่ในราคาหุ้นบ้างแล้ว หากว่า ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไม่รุนแรงเกินกว่าระดับที่คาดไว้ ก็น่าจะทำให้ความเสี่ยงจากการปรับตัวลดลงของดัชนีในอนาคต (Downside risk) เป็นไปอย่างจำกัด นอกจากนั้น หากปัจจัยที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจมีการคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็จะมีส่วนช่วยหนุนให้ดัชนีปรับตัวขึ้นได้ เช่น มีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ การปรับตัวของราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าคาดการณ์ไว้ การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่เหลือของปีเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย ตลอดจน การส่งออกซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสามารถมีการขยายตัวในระดับที่สูง อย่างไรก็ตาม แรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติอาจจะถูกจำกัดด้วยความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ยังเหลือของปีนี้ ที่คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงจากร้อยละ 5.3 ในไตรมาสแรก สู่ร้อยละ 3.5-4.5 ในไตรมาสอื่นๆที่ยังเหลือของปีนี้ ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล แผนการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ และกดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ แนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯในช่วงที่ยังเหลือของปีนี้ที่น่าจะเป็นไปในอัตราที่ลดลงจากช่วงที่ผ่านมา จากการที่เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นไปในอัตราที่ค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค แนวโน้มการปรับตัวของเงินบาทในระยะต่อไปคงจะเผชิญกับแรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยซึ่งคาดว่าจะชะลอตัวลงในปีนี้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนที่จะได้รับจากการถือครองเงินบาทลดลง และเป็นการลดความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในระดับหนึ่ง แนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ของบริษัทจดทะเบียน และแนวโน้มผลกำไรของบริษัทในที่สุด

ถึงแม้ว่า มีแนวโน้มที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ โดยได้รับอานิสงส์จากส่วนหนึ่งของเงินลงทุนที่คาดว่าจะไหลกลับเข้ามาสู่ภูมิภาคในรอบใหม่ก็ตาม แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวของดัชนีในอนาคตจะยังมีความผันผวนค่อนข้างมาก โดยคาดว่า ดัชนีอาจจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน โดยมีแรงซื้อกลับเมื่อราคาหุ้นอ่อนตัวลง สลับกับแรงขายเพื่อทำกำไรออกมาเป็นระยะๆ เนื่องจากตราบใดที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนให้น้ำหนักอย่างมากในการตัดสินใจลงทุนยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนต่างๆ ตามที่กล่าวถึงในข้างต้น ก็ย่อมจะเป็นการลดความสนใจในการลงทุนระยะยาวของนักลงทุนต่างชาติได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มของดัชนี ณ.สิ้นปีนี้ ยังคงสามารถปิดที่ระดับ 795 จุดได้ หากปัจจัยบวกต่างๆปรับตัวไปตามที่คาดการณ์ไว้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน