Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 ธันวาคม 2548

ตลาดการเงิน

อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯ ในการประชุมรอบสุดท้ายของปี 2548 และแนวโน้มปี 2549

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 4.00 มาเป็นร้อยละ 4.25 ในการประชุมรอบสุดท้ายของปีในวันที่ 13 ธันวาคม 2548 ซึ่งตลาดก็ได้มีการปรับตัวตอบรับการคาดการณ์ในทิศทางเดียวกันไปแล้วอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคาดว่าเฟดน่าจะใกล้เสร็จสิ้นนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้านี้แล้ว แม้ว่าจะยังไม่มีความแน่ชัดว่าจังหวะที่เฟดจะหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในช่วงใด ซึ่งในแถลงการณ์ของเฟดที่เปิดเผยออกมาล่าสุดก็ทำให้ตลาดตีความว่าเฟดเองก็มีการพิจารณาถึงประเด็นการหยุดนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟด คงจะต้องขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯในระยะข้างหน้าเป็นหลัก โดยคาดว่าในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯไม่มีสัญญาณการชะลอตัวลงอย่างรุนแรง อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯ อาจจะขยับขึ้นไปที่ระดับสูงสุดที่ร้อยละ 4.75-5.00 ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2549

สำหรับผลกระทบจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในปี 2549 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯไม่มีสัญญาณการชะลอตัวลงอย่างรุนแรง การเสร็จสิ้นนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจจะเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงินมากขึ้น ตลอดจน แนวโน้มการปรับเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนของทางการจีน ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจจะทำให้เงินดอลลาร์ฯมีแนวโน้มปรับตัวอ่อนค่าลงในปี 2549 หลังจากที่เงินดอลลาร์ฯปรับแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 17.3 และ 14.7 นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงต้นเดือนธันวาคม 2548 เมื่อเทียบกับเงินเยนและเงินยูโร ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยบวกที่ลดจำนวนลงสำหรับเงินดอลลาร์ฯ อาจทำให้ตลาดกลับมาให้น้ำหนักมากขึ้นกับปัญหาพื้นฐานเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาลของสหรัฐฯอีกครั้ง (Twin Deficits) นั่นก็จะยิ่งกดดันเงินดอลลาร์ฯให้อ่อนค่าลงไปจากเดิมอีก

ทั้งนี้ แนวโน้มเงินดอลลาร์ฯที่อ่อนค่าลงดังกล่าว หรือเงินบาทที่มีแนวโน้มปรับแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ อาจจะมีผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของภาคการส่งออกไทย ในขณะที่ การเสร็จสิ้นนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และแนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น คงจะช่วยผ่อนคลายข้อกังวลต่อการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของไทยลงไปได้บ้าง เพราะค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากที่ติดลบกลับมามีค่าเป็นบวก หากธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน