Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 ธันวาคม 2548

ตลาดการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. ... คาดว่าจะปิดระดับ ณ ปลายปี 2548 ที่ 4.00%

คะแนนเฉลี่ย

ในภาวะที่แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อของไทยเริ่มที่จะผ่อนคลายลง ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงต้นไตรมาสสุดท้ายของปีได้บ่งชี้ถึงทิศทางที่ชะลอลงของการส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะรอดูการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี โดยพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันอีก 0.25% ในการประชุมรอบสุดท้ายของปีในวันที่ 14 ธันวาคม 2548 หลังจากที่ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ต่อครั้งในการประชุมสองรอบก่อนหน้าในเดือนกันยายนและตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปิดระดับ ณ ปลายปี 2548 นี้ที่ 4.00%

สำหรับแนวโน้มการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท.ในปี 2549 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศคงจะยังเป็นน้ำหนักหลักที่ธปท.ให้สำหรับการพิจารณาปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคาดว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ธปท.จะยังคงเดินหน้านโยบายอัตราดอกเบี้ยที่มีความเข้มงวดมากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อไปเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคาและอัตราเงินเฟ้อ ตลอดจนผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมามีค่าเป็นบวก โดยอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน อาจจะขยับเข้าสู่ระดับสูงสุดที่ประมาณ 4.50-5.00% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 จากระดับ 4.00% ณ ปลายปี 2548 อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2549 ธปท.อาจมีแนวโน้มที่จะทยอยลดบทบาทการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบการเงินผ่านการออกพันธบัตรธปท.และการกู้ยืมในตลาดซื้อคืนพันธบัตร หลังจากที่ขณะนี้สภาพคล่องเริ่มจะปรับลดลงตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็เริ่มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมอย่างชัดเจนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. รวมทั้งการที่จะต้องแข่งขันกับตลาดทุนหรือช่องทางการลงทุนอื่นๆ คาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมตามมาในที่สุด ซึ่งทิศทางขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินไทย อาจจะมีผลกระทบต่อแนวโน้มการใช้จ่ายของภาคเอกชนผ่านภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนโยบายการคลังซึ่งน่าจะยังมีทิศทางที่ผ่อนคลายตามการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายในปี 2549 ของภาครัฐบาล ก็คาดว่าอาจจะช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าวลงไปได้บ้าง อนึ่ง ในระยะหลัง ธปท.ได้แสดงความกังวลต่อแนวโน้มการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย รวมทั้งยังได้ระบุว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลดังกล่าว ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การเพิ่มการออมในระบบเศรษฐกิจไทยนับเป็นสิ่งสำคัญ ในขณะที่ค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศก็เป็นตัวแปรหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะที่ตัวแปรทางเศรษฐกิจต่างๆ มีความเชื่อมโยงผูกพันกันในลักษณะที่ค่อนข้างจะซับซ้อน ฐานะเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิอาจจะยังขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนแนวโน้มค่าเงินบาทอีกด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน