Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 มกราคม 2549

ตลาดการเงิน

คาดแบงก์ชาติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาที่ 4.25% ในการประชุมรอบแรกของปี 2549

คะแนนเฉลี่ย

จากแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อของไทยที่ยังคงมีอยู่ และแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่น่าจะขยายตัวดีขึ้น ตลอดจนความมุ่งหวังของธปท.ที่ต้องการเห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการออมภายในประเทศ และการไหลเข้าสุทธิของเงินลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อมาชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันอีก 0.25% จาก 4.00% มาที่ 4.25% ในการประชุมรอบแรกของปีวันที่ 18 มกราคม 2549 นี้ ซึ่งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับแนวโน้มการขยายสินเชื่อที่มีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจน ความเข้มข้นของภาวะการแข่งขันกับธนาคารคู่แข่งและตลาดทุนในการรักษาฐานลูกค้า ก็คาดว่าจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ยังคงเป็นทิศทางขาขึ้นต่อเนื่องในปี 2549

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ในระยะข้างหน้านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธปท.คงจะมีการให้น้ำหนักกับปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจรอบด้านโดยพิจารณาจากทิศทางการปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในระยะต่อไปเป็นหลัก ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจยังมีความเอื้ออำนวย ธปท.ก็คงจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อและผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมามีค่าเป็นบวก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันอาจขยับเข้าสู่ระดับสูงสุดในช่วงประมาณ 4.50-5.00% ภายในครึ่งแรกของปี 2549 ในขณะที่ความเป็นไปได้ของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของ Fed Funds ที่อาจยุติลงในเวลาไม่นานต่อจากนี้ รวมทั้งแนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค อาจช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท.ในระยะถัดไปด้วย ทั้งนี้ สิ่งที่น่าติดตามนอกเหนือจากระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะเข้าสู่จุดสูงสุดภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 คงจะอยู่ที่การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท.ในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีระดับที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่น่าจะชะลอลงมาต่ำกว่า 4.00% แล้ว ว่าธปท.จะรักษาส่วนต่างที่เป็นบวกมากขึ้นดังกล่าวไว้นานเพียงใด

นอกจากนั้นแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ยังคงต้องจับตาประเด็นสำคัญๆ ที่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจและอาจส่งผลตามมาต่อการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท. อันได้แก่ ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันตลาดโลก โดยคงจะต้องติดตามว่าราคาน้ำมันจะชะลอตัวลงหลังผ่านพ้นฤดูหนาวทางซีกโลกตะวันตกตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ สถานะทางการคลัง ซึ่งยังต้องติดตามว่าประเด็นการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2549 (ตุลาคม-ธันวาคม 2548) ที่ขยายตัวเพียง 2.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงค่อนข้างมากจากการขยายตัวทั้งปีงบประมาณ 2548 ที่ 13.3% ว่าจะมีความต่อเนื่องหรือเป็นเพียงภาวะชั่วคราว เพราะตัวแปรนี้จะมีอิทธิพลต่อการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐซึ่งนับเป็นความหวังสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ตลอดจน การชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมากกว่าที่คาดหรือมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย ธนาคารกลางสหรัฐฯอาจจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลง ซึ่งก็คงจะมีผลกระทบตามมาที่แนวโน้มการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท.ที่อาจจะหลีกไม่พ้นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นเดียวกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน