Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 มกราคม 2549

ตลาดการเงิน

อัตราดอกเบี้ย Fed Funds คงจะปรับขึ้นมาที่ 4.50% ในการประชุมรอบสุดท้ายของกรีนสแปน

คะแนนเฉลี่ย

จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งยังคงแสดงถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติจากพายุเฮอริเคนในช่วงปลายไตรมาส 3/48 รวมทั้ง แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในกรอบที่ดูแลได้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% จาก 4.25% มาที่ 4.50% ในการประชุมรอบแรกของปีวันที่ 31 มกราคม 2549 โดยที่ตลาดก็ได้มีการปรับตัวตอบรับการคาดการณ์ดังกล่าวไปแล้วอย่างเต็มที่

สำหรับแนวโน้มนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะถัดไปซึ่งตลาดยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป คงจะได้แก่ แถลงการณ์หลังการประชุมรอบวันที่ 31 มกราคมของเฟด, แถลงการณ์รอบครึ่งปีต่อหน้าวุฒิสภาเป็นครั้งแรกของนายเบอร์นันเก้เกี่ยวกับประมาณการแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งตามกำหนดจะมีขึ้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ตลอดจน การปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ ทั้งการจ้างงาน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯในระยะข้างหน้า แต่การขยายตัวของตลาดแรงงาน และการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันอาจจะปรับลดลงหลังผ่านพ้นฤดูหนาว รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากพายุเฮอริเคน ก็คาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยบวกที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2549 ได้ (Soft Landing) และเมื่อผนวกกับ แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่แม้จะเพิ่มขึ้น (จากภาวะที่ตึงตัวมากขึ้นของตลาดแรงงานและการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ทดแทนราคาน้ำมันที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ถดถอยลง) แต่ก็คาดว่าจะยังคงอยู่ภายในกรอบที่เฟดจัดการได้โดยไม่เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงประมาณการเดิมว่าอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯ อาจจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงสุดของวัฏจักรขาขึ้นรอบนี้ที่ 4.50-5.00% ภายในครึ่งแรกของปี 2549 โดยมีความเป็นไปได้ที่ค่อนข้างสูงที่นายเบอร์นันเก้อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% มาที่ 4.75% ในการประชุมรอบถัดไปวันที่ 28 มีนาคม 2549

ในส่วนผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมรอบที่จะถึงนี้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เงินดอลลาร์ฯคงจะไม่ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยนี้มากเท่ากับในอดีต เพราะวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯมีแนวโน้มจะยุติลงในเวลาไม่นานต่อจากนี้แล้ว โดยตลาดคงจะกลับมาให้น้ำหนักมากขึ้นต่อแนวโน้มการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนของจีน และปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะมีผลกดดันความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ฯในระยะกลางถึงระยะยาวต่อไป อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯดังกล่าวอาจจะถูกจำกัดจากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงมีความเข้มแข็งมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ทั้งญี่ปุ่นและยูโรโซน อีกทั้ง หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะธนาคารกลางญี่ปุ่น อาจเข้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อปกป้องภาคการส่งออกของตนในกรณีที่เงินดอลลาร์ฯปรับตัวอ่อนค่าลงเร็วเกินไปด้วย

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า วัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่ใกล้จะสิ้นสุดลงในไม่ช้า น่าจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากจะทำให้ธปท.ไม่ต้องวิตกต่อประเด็นค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯมากนัก อย่างไรก็ตาม จากความมุ่งหวังของธปท.ที่จะเพิ่มระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงให้กลับมามีค่าเป็นบวกเพื่อกระตุ้นการออมและดึงดูดเงินทุนไหลเข้าประเทศสุทธิ ทำให้คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการไทย ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์น่าจะยังมีทิศทางขาขึ้นต่อไป โดยเชื่อว่า ธปท.คงจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ภายในครึ่งแรกของปี 2549 นี้ตามที่ตั้งใจไว้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน