Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 มีนาคม 2549

ตลาดการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ ... ยังมีแนวโน้มอยู่ในขาขึ้น

คะแนนเฉลี่ย

แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศจะยังคงมีความไม่แน่นอน รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุด ซึ่งยังคงเป็นข้อมูลในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ จะยังไม่ครอบคลุมช่วงเวลาที่สถานการณ์การเมืองเกิดความไม่ชัดเจนขึ้น แต่ภายใต้สมมติฐานว่าเหตุการณ์ทางการเมืองไม่ยืดเยื้อรุนแรง อีกทั้งมุมมองในเชิงบวกที่มีต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะยังคงให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อและเสถียรภาพทางด้านต่างประเทศในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีก 0.25% จาก 4.25% มาที่ 4.50% ในการประชุมวันที่ 8 มีนาคม 2549 ส่วนในการประชุมรอบต่อๆ ไปนั้น ธปท.คงจะมีการทบทวนสถานการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อที่จะกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสมสอดคล้องกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจ ซึ่งหากสถานการณ์โดยรวมทางด้านเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญจากการคาดการณ์เดิม ธปท.ก็น่าจะยังมีแนวโน้มเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีกอย่างน้อยใน 1 หรือ 2 รอบการประชุมข้างหน้า เพื่อผลักดันระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงให้กลับมาอยู่ในแดนบวกตามที่ได้มุ่งหวังไว้ นั่นหมายความว่า อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน น่าจะมีแนวโน้มขยับเข้าสู่ 4.75-5.00% ภายในครึ่งแรกของปี 2549

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่นั้น แม้ว่าแรงกดดันวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอาจจะเริ่มผ่อนคลายลงหรือมีไม่มากเท่ากับในช่วงเริ่มต้นของวัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในปี 2548 อันเป็นผลมาจากการคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่น่าจะเข้าใกล้ระดับสูงสุดในไม่ช้า บทบาทในการเป็นผู้ดึงเงินฝากหรือความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาฐานเงินฝากเพื่อระดมทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลง ตลอดจนช่องว่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในระยะเดียวกันที่มีแนวโน้มแคบลงซึ่งน่าจะลดแรงจูงใจในการโยกย้ายเงินออมออกไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เหตุผลที่จะผลักดันให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของตนต่อไปในระยะข้างหน้า ยังคงมีอยู่ ซึ่งก็ได้แก่ มุมมองในเชิงบวกต่อแนวโน้มความต้องการสินเชื่อเพื่อรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปีนี้ (ภายใต้สมมติฐานว่าความขัดแย้งทางการเมืองเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว) รวมไปถึง นโยบายเชิงรุกในการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรักษาและช่วงชิงฐานลูกค้า ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นในระหว่างธนาคารพาณิชย์คู่แข่ง และธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่ที่ต้องการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับขั้นต่ำ 3.00-3.25% อาจมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องเข้าหาระดับ 4.00% ณ ปลายปี 2549 ซึ่งก็น่าจะเป็นระดับที่ทางการเห็นชอบด้วย เพราะเมื่อเทียบกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลงมาต่ำกว่า 4.00% ในช่วงครึ่งหลังของปี ก็จะได้ระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีที่มีค่าเป็นบวก ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมสำหรับลูกค้าชั้นดีแบบมีระยะเวลา (MLR) ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จะปรับเข้าสู่ระดับ 7.50-7.75% ณ ปลายปี 2549 จากระดับ 6.75-7.00% ในปัจจุบัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน