Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 มีนาคม 2549

ตลาดการเงิน

อัตราดอกเบี้ย Fed Funds : คาดว่าจะขยับขึ้นมาที่ 4.75%

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ รวมทั้งลดแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อและการคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด คงจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% จาก 4.50% มาที่ 4.75% ในการประชุมรอบที่ 2 ของปีวันที่ 27-28 มีนาคม 2549 ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อครั้งเป็นรอบที่ 15 ติดต่อกันนับตั้งแต่ที่เฟดได้เริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน 2547 ทั้งนี้ เหตุผลที่สนับสนุนการคาดการณ์ดังกล่าว ได้แก่ การปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะมีทิศทางที่ไม่ชัดเจนนัก แต่โดยรวมก็ยังคงให้ภาพในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ ประกอบกับ แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่ยังคงมีอยู่ แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่เฟดดูแลได้ ตลอดจน ท่าทีหรือแถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านที่ยังแสดงความมั่นใจต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในระยะข้างหน้า สำหรับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อของเฟดในการประชุมรอบต่อๆ ไปนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นอกเหนือจากแถลงการณ์หลังการประชุมซึ่งจะสะท้อนถึงมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจของเฟดแล้ว ตลาดการเงินทั่วโลกคงจะจับตาการประกาศข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯในระยะข้างหน้าเพื่อประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ต่อไป โดยล่าสุด ณ วันที่ 24 มีนาคม 2549 การปรับตัวของตลาดล่วงหน้าได้บ่งชี้ว่า ตลาดคาดว่าเฟดอาจจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ต่ออีก 0.25% มาที่ 5.00% ในการประชุมรอบต่อไปวันที่ 10 พฤษภาคม ด้วยความเป็นไปได้ประมาณ 83% ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็มีความเห็นในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดยคาดว่าเฟดอาจจะขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 5.00% ภายในครึ่งแรกของปี 2549 ก่อนที่จะหยุดนโยบายขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยไว้ต่อจากนั้น และรอพิจารณาแนวโน้มการปรับตัวของเศรษฐกิจมหภาคโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ว่าจะชะลอตัวลงมากน้อยเพียงใด

ด้านผลกระทบจากการที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาที่ 4.75% ในการประชุมวันที่ 27-28 มีนาคมนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกคงจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะน่าจะเป็นไปตามความคาดหมายของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ในขณะที่ ประเด็นที่มีความเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจไทย คงจะได้แก่ (1) แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดยแม้ว่าค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ อาจจะเปลี่ยนแปลงจาก 0% มาเป็นติดลบ 0.25% แต่ปัจจัยดังกล่าวก็คงจะไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในระยะใกล้ เพราะเท่าที่ผ่านมา แถลงการณ์หรือการแสดงความคิดเห็นของธปท.มักจะให้น้ำหนักการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปที่ปัจจัยเรื่องอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นหลักมากกว่า นอกจากนี้ ทั้งเงินบาทและทุนสำรองทางการระหว่างประเทศในปัจจุบันก็ยังคงมีระดับที่แข็งแกร่งกว่าเมื่อเทียบกับปลายปี 2548 ที่ผ่านมา และ (2) การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า แม้ว่าเงินบาทอาจจะตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากความยืดเยื้อของปัญหาทางการเมืองในประเทศ แต่เงินบาทก็น่าที่จะได้รับแรงหนุนเช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาคส่วนใหญ่ อันเป็นผลจากการที่นักลงทุนเริ่มจะหันมาให้น้ำหนักมากขึ้นตามลำดับกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลัก ทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางยุโรป ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯอาจมีแนวโน้มเข้าใกล้ระดับสูงสุดในไม่ช้านี้แล้ว ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (Consensus Forecasts) ในเดือนมีนาคมที่รวบรวมโดย Consensus Economic Inc. เงินบาทอาจมีระดับปิด ณ ปลายปี 2549 ที่ 38.99 บาท/ดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับ ณ ปลายปี 2548 ที่ 41.07 บาท/ดอลลาร์ฯ และ 39.14 ณ วันที่ 24 มีนาคม 2549

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน