Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 เมษายน 2549

ตลาดการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ... คาดว่าจะปรับขึ้นมาที่ร้อยละ 4.75

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ภายใต้ภาวะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นหลังสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มผ่อนคลายความตึงเครียดลงได้ในระดับหนึ่ง คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. คงจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน อีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 4.50 มาที่ร้อยละ 4.75 ในการประชุมรอบที่ 3 ของปีในวันที่ 10 เมษายน 2549 นี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักตามกรอบ Inflation Targeting และเพื่อส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ ซึ่งจะผลักดันระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงให้เพิ่มขึ้น โดยล่าสุด ตลาดพันธบัตรของไทยก็ได้มีการปรับตัวตอบรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ไปแล้วล่วงหน้า ทั้งนี้ หากธปท.มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่คาดจริง ก็คาดว่าอาจจะเห็นการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ตามมาอีกระลอกในระยะไม่ไกลจากนี้

สำหรับประเด็นทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจนั้น แม้ว่าในช่วงแรกหลังการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา จะมีความกังวลว่าผลการเลือกตั้งซึ่งสะท้อนถึงความเห็นที่แบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนนั้น อาจจะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไม่คลี่คลายลงหรืออาจจะรุนแรงมากขึ้นไปอีก แต่การประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 4 เมษายน ก็ได้ช่วยลดกระแสความขัดแย้งและความเสี่ยงจากการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มต่อต้านลงไปได้ ซึ่งทำให้ในภาพรวมแล้ว น่าจะถือได้ว่าการประกาศไม่รับตำแหน่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังกล่าว เป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากทำให้โอกาสที่จะเกิดกรณีเลวร้ายต่างๆ (worst-case scenarios) ได้ลดลงไปอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม หากมองไปข้างหน้าแล้ว จะพบว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศยังคงไม่หมดไป โดยประเด็นสำคัญที่ยังคงต้องรอการคลี่คลายเป็นประเด็นๆ ไป ได้แก่:- การเปิดสภาผู้แทนราษฎรภายในเวลา 30 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด การเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การดำเนินการปฎิรูปการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลังจากกระบวนการดังกล่าวเสร็จสิ้นลงแล้ว ก็คงจะมีการยุบสภาฯและการเลือกตั้งใหม่ โดยคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นประมาณไตรมาสที่ 3 หรือ 4 ของปี 2550 ดังนั้น จะเห็นได้ว่า จากนี้จนไปถึงปลายปี 2550 สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศจะเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับว่าประเด็นต่างๆ ในข้างต้นจะมีความคืบหน้าไปในทิศทางที่เป็นที่ยอมรับจากฝ่ายต่างๆ เพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการปฎิรูปการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น คาดว่านักลงทุนคงจะเฝ้าติดตามการดำเนินการทางการเมืองในด้านต่างๆ ในข้างต้นอย่างใกล้ชิด โดยกว่าที่ความชัดเจนจะปรากฏ ก็อาจจะเป็นหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งในปี 2550 ไปแล้ว สำหรับแนวโน้มการลงทุนของภาครัฐนั้น แม้ว่ารัฐบาลที่เข้ามาจากการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน คงต้องการที่จะเร่งทำการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แต่จากข้อจำกัดในเงื่อนเวลาที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2550 ทำให้รัฐบาลดังกล่าวคงจะมีสถานภาพไม่ต่างไปจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ โดยมีหน้าที่สำคัญเฉพาะหน้าในการเร่งประสานงานเพื่อให้การดำเนินการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฎิรูปการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถเดินหน้าไปได้จนจบกระบวนการ ซึ่งจากข้อจำกัดเหล่านี้ อาจทำให้การดำเนินการใช้จ่ายของรัฐบาลคงจะทำได้เฉพาะในโครงการที่ได้อนุมัติไปก่อนหน้าและกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ในขณะที่การจะริเริ่มโครงการใหม่ใดๆ อาจจะไม่สามารถทำได้เต็มที่นัก

ทั้งนี้ จากภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจและการเมืองไทยดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงประมาณการตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2549 นี้ที่ร้อยละ 4.0-5.0 โดยมีความโน้มเอียง (bias) ไปในช่วงล่างของประมาณการณ์ เนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในระบบ สำหรับในด้านการดำเนินนโยบายการเงินนั้น คาดว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังดำเนินไปในขณะนี้ คงจะไม่มีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องของนโยบายอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากคาดว่าสำหรับในช่วงนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะยังคงให้น้ำหนักต่อทิศทางอัตราเงินเฟ้อในประเทศมากกว่าปัจจัยในด้านอื่นๆ ในขณะที่การให้น้ำหนักของธปท. อาจจะเปลี่ยนไปเฉพาะเมื่อ ธปท. มั่นใจแล้วว่าความเสี่ยงในเรื่องเงินเฟ้อได้ลดลงอย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งกว่าตัวเลขจะบ่งชัดถึงแนวโน้มเงินเฟ้อดังกล่าว ก็อาจจะต้องรอในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 เป็นอย่างเร็ว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน