Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 เมษายน 2549

ตลาดการเงิน

ตลาดอนุพันธ์.....ก้าวที่ท้าทายในการพัฒนาตลาดทุนไทย

คะแนนเฉลี่ย

ตราสารอนุพันธ์ หมายถึง เครื่องมือทางการเงินที่มูลค่าของตราสารนั้นขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying asset) และมีอายุจำกัด ตราสารอนุพันธ์แบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน ได้แก่ ออปชัน (Options) ฟอร์เวิร์ด (Forward) ฟิวเจอร์ส (Futures) และสวอป (Swap) การซื้อขายอนุพันธ์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การซื้อขายอย่างไม่เป็นทางการ (Over the Counter หรือ OTC) ซึ่งเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยจะเป็นการตกลงรายละเอียดกันเองโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น การซื้อขายฟอร์เวิร์ดและการทำสวอป และแบบที่มีการจัดตั้งตลาดซื้อขายอย่างเป็นทางการ (Organized Exchange) ซึ่งมีกฎหมายรองรับและมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล เช่น การซื้อขายฟิวเจอร์ส และ ออปชัน ตลาดอนุพันธ์ทั่วโลกได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณการซื้อขายรวมกว่า 9.9 พันล้านสัญญาในปี 2548 จาก 1.7 พันล้านสัญญาในปี 2542 ทั้งนี้พบว่า มูลค่าการซื้อขายอนุพันธ์ในบางประเทศซึ่งตลาดอนุพันธ์ได้มีการพัฒนาเป็นอย่างมาก เช่น ประเทศเกาหลีนั้น สูงกว่ามูลค่าการซื้อขายในตัวสินค้าอ้างอิงถึง 3.6 เท่า

สำหรับประเทศไทยนั้น ถึงแม้ตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้จะมีพัฒนาการมาเป็นระยะเวลานานหลายปีแล้วก็ตาม แต่นักลงทุนยังคงขาดเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดเหล่านั้น โดยการซื้อขายอนุพันธ์ในอดีตจะอยู่ในลักษณะของการซื้อขายแบบไม่เป็นทางการ(OTC) และจำกัดอยู่ในวงแคบเพียงไม่กี่ราย อย่างไรก็ตาม หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องก็ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการที่จะจัดตั้งตลาดอนุพันธ์ จนกระทั่งในปี 2547 ประเทศไทยจึงมีตลาดอนุพันธ์ที่ได้เปิดให้ทำการซื้อขายอย่างเป็นทางการแห่งแรก ได้แก่ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ Agriculture Futures Exchange (AFET) โดยเปิดให้ทำการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นมา และมีสินค้าอ้างอิงที่ซื้อขายเป็นสินค้าเกษตร โดยในปัจจุบันมีอยู่ 5 ชนิดด้วยกัน แต่ก็ยังคงไม่มีตลาดอนุพันธ์ที่มีสินค้าอ้างอิงเป็นตราสารทางการเงินเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28 เมษายนนี้ ตลาดอนุพันธ์แห่งที่สองของประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ Thailand Futures Exchange (TFEX) จะเริ่มเปิดให้ทำการซื้อขาย โดยสินค้าอ้างอิงที่สามารถทำการซื้อขายได้ในอนาคตนั้น มีได้ทั้ง กลุ่มตราสารทุน กลุ่มตราสารหนี้ ตลอดจน สินค้าหรือดัชนีราคาอื่นๆ เช่น ทองคำ น้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ สินค้าชนิดแรกที่ให้ทำการซื้อขาย ได้แก่ SET 50 Index Futures อันเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส)ที่มีดัชนี SET 50 Index เป็นสินค้าอ้างอิง เนื่องจากเป็นดัชนีที่เป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั่วไป โดยจะเป็นการตกลงว่าจะซื้อขาย SET 50 Index ที่ราคาเท่าใดในช่วงเวลาที่กำหนดในอนาคต ซึ่งเมื่อครบกำหนดจะไม่มีการส่งมอบเกิดขึ้นจริงแต่จะใช้การจ่ายเงินตามส่วนต่างของราคาที่เกิดขึ้นจริงในอนาคตกับราคาที่ตกลงกันไว้ (Cash Settlement) ส่วนสินค้าอ้างอิงชนิดที่สอง ได้แก่ Bond Futures คาดว่าจะทำการซื้อขายได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และในอนาคตคงจะมีการทยอยออกสินค้าใหม่ๆ เพิ่มเติมอีก ตามลำดับ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การจัดตั้งตลาดอนุพันธ์ดังกล่าวมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาตลาดการเงินไทย ทั้งตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้ให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต โดยแยกพิจารณาในประเด็นต่างๆได้ดังนี้ นักลงทุนสามารถใช้ตราสารอนุพันธ์เป็นเครื่องมือในการช่วยป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุน(Hedging) ช่วยเพิ่มทางเลือกในการลงทุน และเพิ่มความสามารถในการทำกำไร ช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการคาดคะเนราคาสินค้าอ้างอิงในอนาคต นอกจากนั้น การลงทุนในตลาดอนุพันธ์จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า โดยได้รับการยกเว้นภาษีที่เกิดจากกำไรจากการซื้อขายสำหรับนักลงทุนรายย่อย และภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับนักลงทุนทุกประเภท อีกทั้ง การมีตลาดอนุพันธ์จะมีส่วนช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ โดยจะเป็นการดึงดูดให้นักลงทุนมีความสนใจลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นปริมาณการซื้อขาย เสริมสร้างบรรยากาศในการลงทุน อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของตลาดการเงินของไทยอย่างแข็งแกร่งในอนาคต

ถึงแม้ว่าการใช้ตราสารอนุพันธ์จะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อทั้งนักลงทุน และตลาดการเงินของไทยหลายประการ แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่หลายประการ อันได้แก่ ตราสารอนุพันธ์ถือเป็นเรื่องใหม่ และค่อนข้างซับซ้อนสำหรับนักลงทุนรายย่อยทั่วไป ซึ่งจะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะตัวของตราสารอนุพันธ์แต่ละประเภท ขั้นตอนการวางเงินประกันขั้นต้นเพื่อทำการซื้อขาย และความเสี่ยงจากการลงทุน ตราสารอนุพันธ์มี Leverage สูง นั่นคือ ใช้เงินลงทุนที่น้อยกว่าลงทุนในสินทรัพย์อ้างอิงโดยตรงแต่สามารถให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าหลายเท่า แต่ในขณะเดียวกันหากคาดการณ์ผิด ก็จะทำให้ขาดทุนในอัตราที่สูงกว่าหลายเท่าเช่นกัน การลงทุนในอนุพันธ์เป็นการลงทุนในระยะสั้น เช่น SET 50 Index Futures จะมีเดือนที่สิ้นสุดอายุสัญญาเท่ากับเดือนสุดท้ายในแต่ละไตรมาส (มีนาคม มิถุนายน กันยายน ธันวาคม) ในขณะที่การลงทุนในตราสารทุนจะไม่มีวันหมดอายุ การลงทุนในตราสารทุน หรือ ตราสารหนี้ ยังสามารถได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผล หรือ ดอกเบี้ย และ การลงทุนในตราสารอนุพันธ์นักลงทุนมีภาระผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงจนกว่าจะปิดสถานะ และจะต้องรักษาเงินประกันให้ไม่ลดลงจนต่ำกว่าเงินประกันขั้นต่ำ นอกจากนั้น หากไม่สามารถเพิ่มเงินประกันได้ทันในระยะเวลาที่โบรกเกอร์กำหนดก็อาจจะถูกปิดสถานะการซื้อขายได้ในที่สุด

การจัดตั้งตลาดอนุพันธ์ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของตลาดการเงินของไทย ถึงแม้ว่า การลงทุนในตราสารอนุพันธ์จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับนักลงทุนทั่วไป และมีข้อพึงระวังสำหรับนักลงทุนอยู่หลายด้าน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญทั้งในด้านการป้องกันความเสี่ยง การเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และนำมาซึ่งประโยชน์ในการสนับสนุนการขยายตัวของตลาดการเงินในอนาคต โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาดอนุพันธ์ของไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นกลุ่มของนักลงทุนรายย่อยถึงกว่าร้อยละ 60 นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันกว่าร้อยละ 30 และร้อยละ 10 ทำให้คาดว่าในช่วงระยะแรกของการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ นักลงทุนกลุ่มที่น่าจะเข้ามาทำการซื้อขายช่วงแรกคงจะอยู่ในกลุ่มของนักลงทุนรายย่อยบางรายซึ่งมีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว มีความเข้าใจในเรื่องตราสารอนุพันธ์เป็นอย่างดี และมีเงินลงทุนจำนวนมาก และอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีความพร้อมทั้งในด้านความรู้ และเงินทุน ทำให้ลักษณะของการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ช่วงแรกอาจจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการทำกำไร มากกว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยมองว่าปริมาณการซื้อขายในตลาดคงจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ หลังจากที่นักลงทุนส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในตราสารอนุพันธ์ และมีความคุ้นเคยเกี่ยวกับกลไกการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน การที่ตลาดเริ่มมีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่เริ่มเปิดซื้อขายไประยะหนึ่งแล้ว ประกอบกับการแก้ไขหลักเกณฑ์ในการลงทุนของกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดย ก.ล.ต. คงจะมีส่วนดึงดูดให้จำนวนนักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุนในตลาดอนุพันธ์เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้ คงจะต้องอาศัยระยะเวลา การประชาสัมพันธ์และให้ความรู้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง และความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน