Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 พฤษภาคม 2549

ตลาดการเงิน

อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ... คาดว่าจะปรับขึ้นมาที่ร้อยละ 5.00

คะแนนเฉลี่ย

จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยรวมที่ยังคงให้ภาพในเชิงบวกมากขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2549 ต่อเนื่องมาถึงในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ของปี ประกอบกับ ความเสี่ยงจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งยังคงมีอยู่ และอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหากผู้ผลิตมีการส่งผ่านภาระต้นทุนที่สูงขึ้นมายังผู้บริโภค ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด คงจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 4.75 มาที่ร้อยละ 5.00 ในการประชุมวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 นี้ โดยจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อครั้งเป็นรอบที่ 16 ติดต่อกัน นับจากที่เฟดได้เริ่มต้นวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547 จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ ตลาดการเงินทั่วโลกก็ได้มีการปรับตัวตอบรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมรอบนี้ไปแล้วอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ตลาดยังได้คาดการณ์ด้วยความเป็นไปได้ในระดับหนึ่ง หรือประมาณร้อยละ 45 ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.25 ของเฟดในการประชุมรอบถัดไปวันที่ 28-29 มิถุนายนนี้ด้วย ซึ่งจนกว่าจะถึงเวลานั้น ตลาดการเงินคงจะมีการจับตาอย่างกว้างขวางต่อการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยเฉพาะข้อมูลการจ้างงานในเดือนพฤษภาคม (ประกาศวันที่ 2 มิถุนายน) และอัตราเงินเฟ้อทางด้านผู้บริโภคในเดือนเมษายนและพฤษภาคม (ประกาศวันที่ 17 พฤษภาคม แล 14 มิถุนายน) ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคลในเดือนเมษายน (ประกาศวันที่ 26 พฤษภาคม) อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงคาดว่าอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯ คงจะขยับขึ้นสู่ระดับสูงสุด (peak) ที่ร้อยละ 5.00-5.25 ภายในครึ่งแรกของปี 2549 นี้

สำหรับผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ คงจะมีผลกระทบไม่มากนักต่อทิศทางตลาดเงินตลาดทุน เพราะเป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางล่วงหน้าแล้ว กระนั้นก็ดี สิ่งที่จะมีบทบาทสำคัญสำหรับการประชุมในรอบนี้ คงจะได้แก่ การเปิดเผยแถลงการณ์หลังการประชุม ซึ่งจะบ่งชี้ถึงมุมมองของเฟดที่มีต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และน่าจะมีอิทธิพลต่อความเคลื่อนไหวของตลาดเงินตลาดทุนในระยะต่อไป โดยหากเฟดยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือมีการส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ เงินดอลลาร์ฯ ก็น่าที่จะได้รับแรงหนุนในระยะสั้นๆ อย่างไรก็ตาม วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของเฟดในรอบนี้ที่ใกล้จะสิ้นสุดลงในไม่ช้า ก็คาดว่าจะทำให้เงินดอลลาร์ฯ ขาดปัจจัยหนุนในระยะปานกลางและระยะยาว โดยตลาดการเงินทั่วโลกคงจะกลับมาเทน้ำหนักให้กับประเด็นแนวโน้มการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งก็คาดว่าจะสนับสนุนให้ค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ (นอกเหนือจากเงินดอลลาร์ฯ) มีแนวโน้มที่จะปรับตัวแข็งค่าขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเงินบาทก็คงจะได้รับอิทธิพลดังกล่าวและคงจะมีทิศทางที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจจะไม่เป็นผลดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทยก็ตาม

ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมรอบนี้ คงจะไม่มีผลกระทบมากนักต่อการตัดสินใจทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยธปท.คงจะยังเทน้ำหนักไปที่เป้าหมายการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาและอัตราเงินเฟ้อ ตลอดจนความมุ่งหวังที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงกลับมาอยู่ในแดนบวก เป็นหลักมากกว่า อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็คงจะขยับขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ร้อยละ 4.75-5.00 ภายในครึ่งแรกของปีนี้เช่นเดียวกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน