Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 มิถุนายน 2549

ตลาดการเงิน

การประชุมนโยบายดอกเบี้ย ... ขึ้นอยู่กับน้ำหนักที่ธปท.ให้กับความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ

คะแนนเฉลี่ย
การประชุมนโยบายดอกเบี้ย ... ขึ้นอยู่กับน้ำหนักที่ธปท.ให้กับความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ปีที่ 12 ฉบับที่ 1815 วันที่ 5 มิถุนายน 2549
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เพื่อกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน ในวันที่ 7 มิถุนายน 2549 นี้ คงจะขึ้นอยู่กับ น้ำหนักที่ธปท.จะให้กับความเสี่ยงทางด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจว่ามีมากน้อยเพียงใด เพราะเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า ความเสี่ยงหรือแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อในปัจจุบันยังคงมีระดับสูง นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของธปท.ต่อประมาณการอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะข้างหน้าว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดด้วย ทั้งนี้ หากธปท.ประเมินว่า แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้ออาจมีแนวโน้มผ่อนคลายลงในระยะข้างหน้า ตามราคาน้ำมันตลาดโลกและราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดน้อยลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออาจจะยิ่งซ้ำเติมให้ภาวะการใช้จ่ายในประเทศปรับตัวในทิศทางที่แย่ลง ธปท.ก็มีความยืดหยุ่นในการเลือกที่จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ ซึ่งก็น่าที่จะเป็นผลดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตาม หากธปท.ประเมินว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออาจไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมทั้งความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อยังคงมีน้ำหนักมากอยู่จากราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวน ตลอดจนเพื่อบรรลุเป้าหมายการเพิ่มระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงให้กลับมามีค่าเป็นบวก ธปท.ก็อาจจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.00 ในส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯ นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธปท.คงจะมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเช่นกัน แต่ก็คงจะไม่ใช่น้ำหนักหลักที่ธปท.จะใช้กำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะระดับทุนสำรองทางการระหว่างประเทศของไทยที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง และแนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น น่าที่จะช่วยจำกัดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและไทย ต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนสุทธิระหว่างประเทศ ให้เบาบางลงได้

เหตุผลที่สนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยไว้

ที่ร้อยละ 4.75 ตามเดิม
เหตุผลที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

อีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.00
o สัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในวงกว้างเริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้น

o การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อไม่ได้มีสาเหตุมาจากความร้อนแรงของภาวะอุปสงค์ แต่เป็นผลมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยด้านอุปทาน ดังนั้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออาจยิ่งซ้ำเติมให้ภาวะการใช้จ่ายในประเทศมีแนวโน้มที่จะถดถอยลงไปอีก

o ระดับทุนสำรองทางการระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง และแนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น น่าจะช่วยจำกัดผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและไทย ต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนสุทธิระหว่างประเทศ
o แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงภาวะราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังคงผันผวน

o เป้าหมายการเพิ่มระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงให้กลับมาอยู่ในแดนบวก เพื่อกระตุ้นการออมในประเทศ

o การรักษาค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและไทยไม่ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนสุทธิระหว่างประเทศ (ในกรณีที่เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ต่ออีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.25 ในการประชุมวันที่ 28-29 มิถุนายนนี้)

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า นอกเหนือจากผลการตัดสินใจทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ในทางเลือกระหว่างการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.00 หรือการมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ร้อยละ 4.75 แล้ว คำชี้แจงหรือแถลงการณ์ของธปท.ภายหลังการประชุมในรอบนี้ยังนับว่ามีความสำคัญและคงจะเป็นที่จับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับกรณีที่ธปท.เลือกที่จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจจะสวนทางกับความคาดหวังของผู้สังเกตการณ์หรือนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่มองว่าธปท.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ เนื่องจากในกรณีดังกล่าวธปท.คงจะต้องให้เหตุผลและแสดงถึงจุดยืนที่ชัดเจนถึงประเด็นความมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินโดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับได้โดยเฉพาะกับผู้สังเกตการณ์หรือนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ได้คาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากธปท.

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน