Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 มิถุนายน 2549

ตลาดการเงิน

อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ... ระดับ 5.25% อาจจะไม่ใช่จุดสูงสุดของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้

คะแนนเฉลี่ย
ในวันที่ 28-29 มิถุนายน 2549 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะมีการประชุมรอบที่ 4 ของปีเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ย Fed Funds หลังจากที่นับตั้งแต่กลางปี 2547 จนถึงขณะนี้ เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อครั้งติดต่อกันมาแล้วรวม 16 ครั้ง จาก 1.00% มาที่ 5.00% สำหรับในการประชุมรอบวันที่ 28-29 มิถุนายนนี้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องถี่เกินปกติของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด โดยเฉพาะภายหลังการประกาศข้อมูลอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทางด้านผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคมที่เพิ่มขึ้นมาที่ 2.4% (y-o-y) ซึ่งสูงเกินขอบบนที่ 2.0% ของกรอบที่เฟดจะยอมรับได้ บ่งชี้ว่า การตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมวันที่ 28-29 มิถุนายน 2549 นี้ เฟดคงจะเทน้ำหนักหลักให้กับประเด็นเรื่องแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่ยังคงมีระดับสูง ถึงแม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมจะไม่ได้มีทิศทางการปรับตัวที่ร้อนแรงนักก็ตาม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เฟดคงจะเลือกดำเนินนโยบายในลักษณะป้องกัน (Pre-emptive) ด้วยการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% จาก 5.00% มาที่ 5.25% ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้มองข้ามโอกาสที่เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยขนาดถึง 0.50% มาที่ 5.50% ในการประชุมรอบนี้ด้วยเช่นกัน

สำหรับผลกระทบต่อตลาดการเงินนั้น ปัจจัยสำคัญคงจะอยู่ที่ขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และแถลงการณ์หลังการประชุม ซึ่งจะบ่งชี้ถึงมุมมองทางด้านเศรษฐกิจของเฟดและเป็นสิ่งที่ตลาดจะนำไปคาดการณ์ต่อถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในระยะข้างหน้า โดยหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาด เงินดอลลาร์ฯ อาจจะไม่ได้รับปัจจัยหนุนมากนัก ในทางตรงกันข้าม หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าที่คาด และยังส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นต่ออีก เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจจะมีแรงหนุนให้ปรับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น นอกเหนือไปจากน้ำหนักหลักทางด้านสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในประเทศแล้ว หากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดมีขนาดที่มากกว่าการคาดการณ์ตามสมมติฐานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ก็อาจจะมีผลกระทบตามมาต่อการพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระยะข้างหน้าได้เช่นเดียวกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน