Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 กรกฎาคม 2549

ตลาดการเงิน

ความสามารถในการทำกำไรของแบงก์ไทยในช่วงครึ่งปีหลัง : ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ... ปรับตัวลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก

คะแนนเฉลี่ย
สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า การรักษาความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น คงจะเผชิญปัจจัยลบหลายประการ โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 อยู่ที่ประมาณ 3.20% ต่ำกว่าประมาณการของช่วงครึ่งปีแรกที่ 3.42% และประมาณการของไตรมาส 2/2549 ที่ 3.38% รวมทั้งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไตรมาส 1/2549 (ข้อมูลจริง) ที่ 3.41% ซึ่งการลดลงของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยทั้งในไตรมาส 2/2549 และครึ่งหลังของปีนี้นั้น สะท้อนว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยได้ผ่านพ้นจุดสูงสุด (Peak) มาแล้ว ทั้งนี้ ตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ได้แก่ ประการแรก การชะลอตัวของสินเชื่อ อันเป็นผลจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ประการที่สอง ผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในช่วงก่อนหน้า ถึงแม้ว่าลำพังในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินให้กู้ยืมอีกไม่เกิน 0.25-0.50% ก็ตาม และประการสุดท้าย อัตราผลตอบแทนจากตลาดเงินที่ถึงจุดสูงสุดแล้ว หลังจากที่เป็นที่คาดหมายว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งของไทยและสหรัฐฯ ใกล้จะถึงจุดสูงสุดภายในกลางปีถึงไตรมาส 3/2549 ดังนั้น การเติบโตของอัตราผลตอบแทนจากเงินลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นในลักษณะที่จำกัด คงจะไม่สามารถช่วยชดเชยต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายส่วนเพิ่มจากเงินฝากได้มีประสิทธิภาพเท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2549

นัยที่สำคัญจากการปรับตัวลดลงของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 คือ โอกาสที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จะลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลตามมาให้ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจต้องหาทางออกอื่นๆ เพื่อช่วยรักษากำไรสุทธิไว้ ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าแนวทางที่คงมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากที่สุด จะยังคงเป็นการเพิ่มรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ผ่านการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมเป็นสำคัญ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน