Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 กรกฎาคม 2549

ตลาดการเงิน

ประมาณการผลประกอบการแบงก์ไทยไตรมาส 2/49 : ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน

คะแนนเฉลี่ย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำประมาณการผลประกอบการไตรมาส 2/2549 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจำนวน 14 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มธนาคารตามขนาดของสินทรัพย์ ได้แก่ กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ กลุ่มธนาคารขนาดกลาง และกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก ซึ่งการประมาณการจะอ้างอิงจากข้อมูลตามงบการเงินรวม และข้อมูลรายธนาคารที่เกี่ยวข้อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะมีกำไรสุทธิ (หลังภาษี) จำนวนประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงจากไตรมาส 1/2549 เท่ากับ 9.47% และลดลงจากไตรมาส 2/2548 เท่ากับ 2.24%

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า การลดลงของกำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีสาเหตุจาก ประการแรก การขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จะต้องทยอยรับรู้ต้นทุนจากการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งจะไม่ได้รับปัจจัยบวกจากเงินปันผลของกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 เหมือนเช่นในไตรมาส 1/49 ประการที่ 2 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาส 2/49 น่าจะปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการปรับตัวลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย อาทิ รายการกำไรจากเงินลงทุน ซึ่งธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีกำไรจากเงินลงทุนพิเศษในไตรมาส 1/49 นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทย่อยยังน่าจะลดลงในไตรมาส 2/49 เนื่องจากคาดว่าธุรกิจของบริษัทย่อยน่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ตลอดจนความผันผวนของตลาดหุ้น ในขณะที่ คาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ อาจไม่สามารถขยายตัวได้มากนักในไตรมาส 2/49 ตามข้อจำกัดในการขยายสินเชื่อ ในขณะที่ ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเน้นไปที่ค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน อาคาร สถานที่และอุปกรณ์ ตลอดจนค่าใช้จ่ายสืบเนื่องจากการขยายงานด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มธนาคาร คาดว่าคงจะเห็นกำไรสุทธิ (หลังสำรองและภาษี) ที่ลดลงในทุกกลุ่มธนาคาร โดยประมาณว่ากำไรสุทธิดังกล่าวของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ อาจอยู่ที่จำนวน 1.78 หมื่นล้านบาท (ลดลง 10.72% จากไตรมาสก่อน) ของกลุ่มธนาคารกลางอยู่ที่จำนวน 3.24 พันล้านบาท (ลดลง 5.37% จากไตรมาสก่อน) และของกลุ่มธนาคารขนาดเล็กจะอยู่ที่จำนวน 2.96 พันล้านบาท (ลดลง 6.03% จากไตรมาสก่อน)

สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 คาดว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีกำไรสุทธิประมาณ 5.07 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลง 0.95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลจะขยายตัวกว่า 272% ในขณะที่ เมื่อไม่รวมภาระภาษีดังกล่าว ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย จะมีกำไรสุทธิ (ก่อนภาษี) จำนวนประมาณ 6.73 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 20.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ที่ได้รับอานิสงส์จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากประจำและเงินให้กู้ยืมควบคู่กัน ทำให้สามารถเลื่อนการรับรู้ต้นทุนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำออกไปก่อนได้ นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากทั้งในและนอกประเทศ ยังส่งผลดีต่อรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินลงทุนในตลาดเงินระยะสั้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทิศทางผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนั้น อาจเผชิญข้อจำกัดจากปัจจัยลบหลายประการ โดยเฉพาะในแง่ของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ อันมีสาเหตุที่สำคัญจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ (ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายสินเชื่อ) ภาระเพิ่มเติมจากการแข่งขันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในช่วงก่อนหน้า ตลอดจน การที่การเติบโตของอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สภาพคล่องคงจะติดเพดานแล้ว หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งในไทยและสหรัฐฯ น่าจะถึงจุดสูงสุดในภายไตรมาส 3/49 นี้ ในขณะเดียวกัน ยังมีภาระจากภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งน่าจะเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งหลังของปี 2548 โดยเปรียบเทียบ ทำให้ ในภาพรวมแล้ว ฐานะผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงครึ่งหลังของปี อาจลดความสดใสลงจากช่วงครึ่งปีแรกได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน