Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 สิงหาคม 2549

ตลาดการเงิน

เฟดมีความโน้มเอียงที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ขึ้นสู่ร้อยละ 5.50 (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1843)

คะแนนเฉลี่ย
จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สัญญาณการชะลอตัวเริ่มจะปรากฏชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจีดีพี ไตรมาส 2/2549 ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด ยอดขายบ้านใหม่และยอดขายบ้านมือสองที่ปรับตัวลดลง อีกทั้ง แถลงการณ์จากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในระยะหลังๆ ที่เริ่มจะสะท้อนถึงความกังวลมากขึ้นต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้ตลาดมีการปรับลดการคาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.50 ของเฟด ในการประชุมวันที่ 8 สิงหาคม 2549 นี้ ด้วยความเป็นไปได้ที่น้อยลงเมื่อเทียบกับในการประชุมครั้งก่อนๆ หน้า อย่างไรก็ตาม จากแรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯที่ยังคงมีระดับสูง และภาวะราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า โดยภาพรวมแล้ว เฟดน่าจะยังมีความโน้มเอียงที่จะให้น้ำหนักในเรื่องเสถียรภาพมากกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เฟดคงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.50 ในการประชุมวันที่ 8 สิงหาคม นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวยังน่าจะทำให้เฟดได้รับความน่าเชื่อถือ (Credibility) จากตลาดเงินมากกว่าการไม่ปรับขึ้นแล้วพบทีหลังว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้น กระนั้นก็ดี คาดว่าอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่ร้อยละ 5.50 ก็น่าจะเป็นระดับสูงสุดของวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ของเฟดแล้ว เมื่อคำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 2 ปีของเฟดน่าจะทยอยปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นในระยะถัดไป
สำหรับผลกระทบต่อนโยบายอัตราดอกเบี้ยของทางการไทยนั้น การที่เฟดน่าจะใกล้เสร็จสิ้นนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลงในไม่ช้านี้แล้ว ประกอบกับ แรงกดดันเงินเฟ้อภายในประเทศที่เริ่มจะผ่อนคลายลง ตลอดจน แนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของเศรษฐกิจไทย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยคงจะมีแรงกดดันที่น้อยลง/หรือมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สำหรับการตัดสินใจทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน