Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 กันยายน 2549

ตลาดการเงิน

การทำรัฐประหาร...ผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1902)

คะแนนเฉลี่ย
การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมาไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อการเมืองในประเทศเท่านั้น ยังจะส่งผลกระทบต่อทั้งภาคเศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุนในวงกว้างด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตลาดหุ้นไทยหลังจากที่เปิดให้มีการซื้อขายในวันแรกนั้นกลับน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยหลังจากเปิดตลาดในวันที่ 21 กันยายน 2549 ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 702.05 จุด ก่อนที่จะร่วงลงมากที่สุดถึง 29.56 จุด หรือร้อยละ 4.2 จากวันก่อนไปแตะที่ 673.03 จุดหลังเปิดตลาดไม่นาน จากแรงขายนำในหุ้นขนาดใหญ่ แต่สามารถที่จะฟื้นตัวได้และปิดตลาดที่ 692.57 จุด ลดลง 9.99 จุดหรือร้อยละ 1.42 จากวันก่อนด้วยมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่นที่สุดในรอบ 8 เดือนที่ 43,084.01 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นกลุ่มที่มีการซื้อสุทธิถึง 7,391.98 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลกระทบของการทำรัฐประหารซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น 2 ครั้งต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ โดยในครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 โดยคณะของพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ และในครั้งที่สองเมื่อวันที่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) แล้วพบว่า ดัชนีตลาดหุ้นมีการปรับตัวในลักษณะเดียวกันคือ ลดลงในช่วงแรกที่เปิดทำการหลังจากรัฐประหารก่อนที่จะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ โดยในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 นั้น ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงไป 1.19 จุดหรือร้อยละ 0.69 ไปปิดที่ 171.76 จุด ก่อนที่จะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ตามลำดับ โดยปรับตัวขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดของปีที่ 205.08 จุด เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2520 อีกกว่า 2 สัปดาห์หลังจากนั้น ส่วนการปรับตัวของตลาดหุ้นไทย ในการทำรัฐประหารครั้งก่อนหน้าเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 นั้น พบว่า ในวันถัดมาที่ได้มีการซื้อขายดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงไปถึง 57.4 จุดหรือร้อยละ 7.25 ไปปิดที่ 734.24 จุดก่อนที่จะสามารถปิดที่ระดับสูงสุดของปีที่ 908.9 จุด เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2534 หรืออีก 2 เดือนหลังจากนั้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เมื่อพิจารณาจากอดีตที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยมี
แนวโน้มจะฟื้นตัวขึ้นได้สะท้อนให้เห็นถึงการที่มักจะมีแรงซื้อกลับเข้ามาหลังจากที่ดัชนีร่วงลงในช่วงวันแรกหลังจากที่มีการทำรัฐประหาร แต่เป็นที่สังเกตว่าการปรับตัวเพิ่มของดัชนีหลังจากนั้นไปยังคงมีการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างผันผวน โดยพบว่านับตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 จนถึงช่วงที่มีการเลือกตั้งครั้งใหม่เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2522 และ การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จนถึงช่วงที่มีการเลือกตั้งครั้งใหม่เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีค่าสัมประสิทธิ์ของการกระจาย(คำนวณจากค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน/ค่าเฉลี่ยของอัตราผลตอบแทน)ที่สูงถึงร้อยละ 11.96 และร้อยละ 10.2 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าค่าสัมประสิทธิ์ของการกระจายของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.85 ในปีนี้ นอกจากนั้นแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นมักจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกครั้งในช่วงระยะเวลาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงการคาดการณ์เชิงบวกเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคต โดยในกรณีของการทำรัฐประหารในปี 2534 นั้น พบว่า การซื้อหุ้นก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 22 มีนาคม 2535 เป็นเวลา 3 เดือน 2 เดือน และ 1 เดือน จะให้อัตราผลตอบแทนที่ร้อยละ 21.6, 7.05 และร้อยละ 3.7 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาจากหลังการทำรัฐประหารจนถึงมีการเลือกตั้งใหม่ดัชนีได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในการประเมินผลกระทบของการทำรัฐประหารในครั้ง
ล่าสุดต่อการปรับตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในระยะต่อไปนั้น คงจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยมองว่า การปรับตัวของดัชนีคงจะได้รับผลกระทบจากประกาศ คำสั่งหรือข่าวต่างๆที่เกี่ยวกับคณะกรรมการปฏิรูปการปกครองฯ ที่คงจะทยอยออกมาเป็นระยะๆ โดยดัชนีมีแนวโน้มที่จะตอบสนองในเชิงบวกหากข่าวต่างๆออกมาในทางที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นคงจะเป็นไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยมองว่านักลงทุนคงจะหลีกเลี่ยงหุ้นที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง หรือได้รับประโยชน์จากนโยบายทางการเมือง ในขณะที่คงจะหันไปสนใจหุ้นในกลุ่มที่การปรับตัวของราคาไม่ผันผวนไปตามตลาด (Defensive stock) มีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลสูง และมีกระแสเงินสดที่ดี นอกจากนั้น โอกาสในการทำกำไรคงจะขึ้นอยู่กับการเลือกจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าลงทุน ขณะที่คาดว่า ยังมีประเด็นอื่นๆที่มีความสืบเนื่องจากการทำรัฐประหารที่น่าจะส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของดัชนีในระยะถัดไปจนกว่าจะถึงช่วงที่มีการเลือกตั้งใหม่อีกหลายประเด็น(ตามที่ได้กล่าวถึงในตารางข้างต้น) ถึงแม้ว่าดัชนีมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้นได้จากแรงซื้อกลับในระยะถัดไปเช่นเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นในครั้งก่อน แต่มองว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการปรับตัวของดัชนีคงจะต้องขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนหลายด้าน ทั้งจาก ประเด็นทางการเมือง ดังที่ได้ยกตัวอย่างในตารางข้างต้น และ ประเด็นทางด้านปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ( เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันในต่างประเทศ) จากการที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงสู่ร้อยละ 3.0-3.5 ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และร้อยละ 3.5-4.5 ในปีหน้า เมื่อเทียบกับการขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ในปีที่ผ่านมา จากการชะลอตัวของการลงทุนและอุปสงค์ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับตัวลดลงในปีหน้า รวมถึงราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงนั้น น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ นอกจากนั้น ยังมองว่า หากประเด็นทางการเมืองมีความชัดเจนและคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น รวมถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จทางนิติบัญญัติน่าจะพิจารณาผ่านวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2550 ได้โดยเร็วกว่าที่คาดไว้ในตอนแรกว่าอาจจะเป็นไตรมาสแรกของปีหน้า รวมถึงการที่อาจจะมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ย่อมจะช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจเช่นกัน ขณะที่มีข้อสังเกตว่า การทำรัฐประหารในครั้งล่าสุดนั้นเป็นไปโดยสงบเรียบร้อยเมื่อเปรียบเทียบกับใน 2 ครั้งก่อน ซึ่งหากว่าสถานการณ์ทางการเมืองจากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ยังคงเป็นไปในลักษณะดังกล่าวนี้ โดยไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในภายหลัง ก็น่าจะเป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น เมื่อผนวกกับการที่ตลาดหุ้นไทยยังคงมีค่า P/E ที่ค่อนข้างต่ำซึ่งหมายถึงยังมีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาคแล้ว ก็น่าจะเป็นการช่วยหนุนความน่าสนใจของตลาดหุ้นและเป็นปัจจัยบวกต่อการปรับตัวต่อดัชนีได้ในระยะต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน