Free float หมายถึง จำนวนหุ้นหมุนเวียนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งถือครองโดยนักลงทุนรายย่อย ซึ่งเป็นหุ้นในส่วนที่ไม่ได้ถือครองโดยผู้มีส่วนร่วมในการบริหารงาน (Strategic shareholder) และไม่ได้เป็นหุ้นที่ซื้อคืน โดยการเพิ่ม Free float นั้น ถือเป็นมาตรการที่สำคัญข้อหนึ่งในหลายมาตรการในการพัฒนาตลาดตราสารทุนที่ได้มีการกล่าวถึงในแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนฉบับที่ 2 เนื่องจากมีความสำคัญในการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดหลักทรัพย์ โดยเป็นการเพิ่มจำนวนหุ้นในส่วนที่นักลงทุนรายย่อยสามารถถือครองได้ ทำให้มีจำนวนหุ้นหมุนเวียนกระจายสู่ตลาดมากขึ้น ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของการกระจายหุ้นให้กับนักลงทุนรายย่อยอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการกำหนดเกณฑ์การกระจายการถือหุ้นของนักลงทุนรายย่อยเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งในเกณฑ์การรับหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ และเป็นคุณสมบัติที่บริษัทจดทะเบียนต้องดำรงไว้ และได้มีการปรับเพิ่มสัดส่วน Free float ที่ต้องดำรงไว้ขึ้นตามลำดับ โดยในปัจจุบัน ได้กำหนดให้บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนใหม่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นสามัญรายย่อยที่ร้อยละ 25 ของทุนชำระเเล้ว และมีจำนวนผู้ถือหุ้นสามัญรายย่อยไม่น้อยกว่า 1,000 ราย ตลอดจน กำหนดสัดส่วน Free float เพื่อการดำรงสถานะของบริษัทจดทะเบียนเป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของทุนชำระแล้วและให้ยังคงจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยไว้ไม่ต่ำกว่า 150 ราย ในการพิจารณานั้น ตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณาจากรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ.วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี อย่างไรก็ตาม ได้เปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนที่มีการการกระจายหุ้นน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมได้ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ตลาดหลักทรัพย์แจ้งให้บริษัทจดทะเบียนทราบ ซึ่งหลังจากนั้นแล้วหากข้อมูลไม่สามารถรับฟังได้หรือไม่ได้มีการชี้แจงเพิ่มจึงจะให้เวลาบริษัทแก้ไขการกระจายหุ้นให้ครบภายใน 1 ปี ทั้งนี้ หลังจากระยะเวลาดังกล่าวแล้ว หากบริษัทยังไม่สามารถแก้ไขได้ตามเกณฑ์ ก็จะให้เวลาในการชี้เเจงเพิ่มอีก 15 วัน ก่อนที่จะกำหนดให้หุ้นของบริษัทดังกล่าวเข้าซื้อขายในระบบ Call Market จนกว่าจะมีการเเก้ไขการกระจายหุ้นได้ตามเกณฑ์จึงสามารถกลับมาทำการซื้อขายในระบบปกติ โดยบริษัทที่มีการซื้อขายในระบบ Call Market ในขณะนี้ มีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 14 รายด้วยกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูล Free float ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น
นับตั้งแต่ปี 2547 ถึงเมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมาจากข้อมูลที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เผยเเพร่โดยพบว่า ค่า Free float โดยเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทยล่าสุดนั้น ได้ขยับขึ้นเล็กน้อยสู่ร้อยละ 38.89 จากที่ประมาณร้อยละ 38.61 ในปี 2547 และร้อยละ 38.67 ในปี 2548โดยจากบริษัทจดทะเบียน 473 บริษัท มีบริษัท ที่มีค่า Free float ไม่ถึงเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดหรือน้อยกว่าร้อยละ 15 อยู่ 37 บริษัท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การสนับสนุนให้มีการเพิ่มจำนวน Free float ถือเป็นหนึ่งใน
หลายๆมาตรการที่สำคัญต่อการพัฒนาตลาดหุ้นไทย โดยน่าจะเป็นมาตรการในเบื้องต้นที่สามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดหุ้นไทยได้ในขณะนี้ทั้งนี้ ในแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนฉบับที่ 2 ได้กล่าวถึงมาตรการเพื่อเพิ่ม Free float ไว้หลายประการ อาทิเช่น การสนับสนุนการเพิ่ม Free float ของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะในกลุ่ม SET 100 Index โดยอาจจะอยู่ในรูปของการสนับสนุนให้มีการออกหุ้นเพิ่ม หรือ ขายหุ้นในส่วนของนักลงทุนรายใหญ่ให้กับนักลงทุนรายย่อย การเพิ่มเกณฑ์การรับหลักทรัพย์และการดำรงสถานะของบริษัทจดทะเบียน และการสนับสนุนให้บริษัทที่มี Market Cap. และราคาหุ้นสูง เพิ่ม Free float โดยเพิ่มแรงจูงใจให้บริษัทเหล่านั้น เช่น การลดค่าธรรมเนียม การกระจายหุ้นในส่วนที่ภาครัฐถือครอง นอกจากนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอื่นๆ อันได้แก่ การสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนเห็นความสำคัญในเรื่องของการกระจายหุ้นอย่างจริงจังรวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเเนวทางในการปฏิบัติกรณีที่บริษัทมีคุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยการร่วมหารือและวางแผนแนวทางในการแก้ไขอย่างเป็นขั้นๆและแบ่งกรอบระยะเวลาในแก้ไขเป็นช่วงๆอย่างชัดเจนร่วมกับทางตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับมีการติดตามผลและรายงานความคืบหน้าให้กับตลาดหลักทรัพย์ทราบเป็นระยะๆ การสนับสนุนการเพิ่มคุณภาพและความสามารถในการแข่งขันของบริษัทจดทะเบียน โดยการลดอุปสรรคของการดำเนินธุรกิจ ตลอดจน การมุ่งเน้นที่คุณภาพของบริษัทเป็นหลักในการชักชวนให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดความต้องการลงทุนในบริษัทเหล่านั้นอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ามาตรการในการเพิ่ม Free float จะมีความสำคัญดังที่ได้กล่าวในข้างต้นแล้วนั้น แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะละเอียดอ่อนและมีข้อจำกัดบางประการในการดำเนินการในทางปฏิบัติซึ่งอาจจะส่งผลให้การกระจายหุ้นไม่สามารถกระทำได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว อาทิเช่น การที่จะนำหุ้นออกขายจะต้องพิจารณาถึงจังหวะการลงทุนในตลาดหุ้นในแต่ละช่วงเวลา เช่น สภาพแวดล้อมในตลาดทุนในขณะนั้น ทั้งความต้องการของผู้ลงทุนในช่วงดังกล่าว การขายหุ้นในปริมาณมากอาจนำไปสู่การที่จะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวลดลงได้ ตลอดจน แรงจูงใจที่จะให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ขายหุ้นในส่วนที่ถือครองออกมา ผู้ถือหุ้นอาจไม่ต้องการขายหุ้นเนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อรายได้เคยได้รับ เช่น รายได้จากเงินปันผล ในขณะที่การสนับสนุนให้มีการกระจายหุ้นในส่วนที่ภาครัฐถือครองอาจจะเป็นการกระทบต่อรายได้รับของรัฐบาลด้วยเช่นกัน J
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น