Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 พฤศจิกายน 2549

ตลาดการเงิน

ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 ... อาจได้รับผลกระทบจากภาระดอกเบี้ยฝาก และการกันสำรองตาม IAS39 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1915)

คะแนนเฉลี่ย
ในไตรมาส 3/2549 ที่ผ่านมา ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยประกาศผลประกอบการ (ก่อนสอบทาน) ซึ่งปรากฎว่ามีกำไรสุทธิจำนวน 2.36 หมื่นล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 5.68% แต่ก็เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2549 เท่ากับ 19.2% เช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ในไตรมาส 3/2549 ที่ 3.32% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2/2549 ที่ 3.29% อย่างไรก็ตาม สาเหตุส่วนหนึ่งของกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2549 เป็นเพราะเงินปันผลจากกองทุนรวมวายุภักษ์ ในขณะที่ เมื่อขจัดผลดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่าฐานะการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันด้านราคาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2548
สำหรับในไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงเชื่อว่าภาระอันเกิดจากการแข่งขันด้านราคาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในอดีตดังกล่าว ยังจะกดดันผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยต่อไป เช่นเดียวกับการประกาศใช้มาตรฐานการบัญชีใหม่ IAS39 ในส่วนที่เกี่ยวกับการกันสำรองหนี้ของธปท.ในเดือนพฤศจิกายนนี้ อันจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในระยะแรกกับเอ็นพีแอลที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณว่า ในระหว่างช่วงไตรมาส 4/2549 ถึงปลายปี 2550 (ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่เกณฑ์ดังกล่าวจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2551 นั้น) ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจต้องกันสำรองเพิ่มเติมจากสำรองที่มีอยู่ในปัจจุบันอีกประมาณ 3.2-8.2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ความจำเป็นในการทำสำรองเพิ่มเติมดังกล่าว อาจกดดันฐานะเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารพาณิชย์ไทยให้ลดลงจากระดับปัจจุบัน แต่ทุกธนาคารก็ยังสามารถรักษาอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงชั้นที่ 1 ให้สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธปท.ที่ 4.25% ได้ แม้ว่าธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่มีอัตราส่วนเงินกองทุนข้างต้น ลดลงมาอยู่ใกล้เคียงกับเกณฑ์ขั้นต่ำของธปท.นั้น อาจถูกกดดันให้เพิ่มทุน เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในระยะต่อไป
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ธนาคารพาณิชย์ไทยยังอาจต้องรับรู้ผลกระทบจากการขายทรัพย์สินรอการขายให้กับ บสก. ด้วยเช่นกัน หากสามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดพอร์ตทรัพย์สินที่ต้องการขายได้ภายในไตรมาส 4/2549 นี้ หรือทยอยตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขายไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อรองรับการขาดทุนจากการขายทรัพย์สินรอการขายที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ว่าการกันสำรองตามมาตรฐาน IAS39 และการขายทรัพย์สินรอการขายให้กับ บสก. อาจก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายและส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้ แต่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง อันจะนำมาสู่เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์และระบบการเงินไทยในระยะยาว ผ่านการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ไทย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน