Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 พฤศจิกายน 2549

ตลาดการเงิน

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 8 ปี ... ธปท.อาจต้องเพิ่มความเข้มข้นมาตรการดูแลค่าเงินบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1918)

คะแนนเฉลี่ย
แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเพิ่งออกประกาศปรับปรุงมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท แต่ล่าสุดในช่วงเช้าของวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549 เงินบาทก็ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อ โดยขยับขึ้นไปทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 8 ปีที่ระดับ 36.39 บาท/ดอลลาร์ฯ ซึ่งจากความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้ตลาดและนักค้าเงินติดตามความเป็นไปได้ที่ธปท.อาจมีการออกมาตรการเพื่อดูแลรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทเพิ่มเติมอย่างใกล้ชิด
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หากเงินบาทยังมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นโดยเฉพาะหากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลงอย่างรุนแรง (hard landing) ธปท.คงจะมีการดำเนินมาตรการเพื่อดูแลรักษาเสถียรภาพความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทออกมาเพิ่มเติม นอกเหนือจากการขยายเพดานกรอบการลงทุนในต่างประเทศของทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไปในไทย ยกตัวอย่างเช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง หรือการออกมาตรการเชิงคุณภาพที่เพิ่มระดับการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป (โดยอาจมีการขยายการควบคุมครอบคลุมประเภทธุรกรรมมากขึ้น หรือขอความร่วมมือการรายงานข้อมูลจากสถาบันการเงินในรายละเอียดหรือความถี่ที่มากขึ้น)
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าธปท.พร้อมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติม แต่ด้วยเครื่องมือที่จำกัด ก็อาจทำให้ไม่สามารถต้านการแข็งค่าของเงินบาทในระยะปานกลางถึงยาวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ยังคงอ่อนไหวต่อปัญหาโครงสร้างอย่างการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯดังนั้น ภาคธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่อการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท โดยเฉพาะธุรกิจที่มุ่งผลิตเพื่อขายในตลาดต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง หรือมีรายรับส่วนใหญ่อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ฯ คงจะต้องพิจารณาแนวทางป้องกันผลกระทบและแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ การใช้เครื่องมือ/ผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนการปรับเปลี่ยนแผนทางธุรกิจ/โครงสร้างการผลิตใหม่ โดยอาจขยายตลาดส่งออกให้มีความหลากหลายมากขึ้น หรือพิจารณาทางเลือกในการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่า หรือเพิ่มน้ำหนักของสายการผลิตในประเภทธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท อาทิ ธุรกิจการนำเข้าสินค้าและบริการ และธุรกิจในภาคบริการ (Non-tradable Sector) หรือขยายสายการผลิตไปสู่ประเภทธุรกิจที่ได้รับผลบวกจากการแข็งค่าของเงินบาท อาทิ ธุรกิจที่มี Import Content สูง และผลิตเพื่อขายในประเทศ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน