Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 กุมภาพันธ์ 2550

ตลาดการเงิน

สภาพคล่องท่วมแบงก์ไทย 8.33 แสนล้านบาท ... อัตราดอกเบี้ยยังปรับลดลงได้อีก (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1951)

คะแนนเฉลี่ย
ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลงอีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 4.50 ซึ่งนับเป็นการปรับลดรอบที่สองต่อจากในการประชุมรอบแรกของปีในวันที่ 17 มกราคมที่ธปท.ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ร้อยละ 4.75 เทียบกับระดับ ณ ปลายปี 2549 ที่อยู่ที่ร้อยละ 4.9375 ทั้งนี้ จากภาวะสภาพคล่องที่ยังคงมีระดับสูงในปัจจุบัน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราดอกเบี้ยในประเทศ ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ ยังมีโอกาสจะปรับลดลงได้อีกในระยะถัดไป
โดยในช่วงที่ผ่านมา ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2549 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย[1]มียอดสินทรัพย์สภาพคล่อง ซึ่งวัดจากยอดรวมของเงินสด การลงทุนในตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคารสุทธิ และการลงทุนในตลาดซื้อคืนพันธบัตรสุทธิ จำนวน 7.36 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 2.76 แสนล้านบาท จากยอดสินทรัพย์สภาพคล่องจำนวน 4.60 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2549 ดังกล่าว เป็นผลหลักมาจากปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด การเกินดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ และการขยายตัวของเงินฝากในอัตราที่สูงกว่าการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปี 2549 สำหรับตัวเลขล่าสุดในเดือนมกราคม 2550 นั้น สินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงปรับสูงขึ้นอีกราว 9.6 หมื่นล้านบาทจากสิ้นปีก่อนหน้า มาที่ 8.33 แสนล้านบาท อันเป็นผลจากการเพิ่มสูงขึ้นของเงินฝาก ในขณะที่สินเชื่อชะลอตัวลง
ส่วนแนวโน้มในปี 2550 นั้นแม้สภาพคล่องโดยรวมของประเทศอาจได้รับผลกระทบบ้างจากการไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศที่คาดว่าจะชะลอตัวลง อันเป็นผลจากปัญหาความเชื่อมั่น โดยเฉพาะในประเด็นการเมืองและการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของทางการ แต่สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ยังมีสูงถึง 8.33 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมกราคม 2550 คาดว่าจะยังเป็นระดับที่มากพอที่จะสามารถรองรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศได้ตลอดช่วงที่เหลือของปี 2550 นี้ เนื่องจากประเมินว่าสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์น่าจะได้รับแรงหนุนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 2550 ที่คาดว่าอาจมีจำนวนสูงขึ้นจากปีก่อน ในขณะที่ยอดเงินฝากก็น่าที่จะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สภาวะตลาดทุนที่คาดว่าอาจซบเซาจนกว่าจะมีความชัดเจนทางการเมือง นอกจากนี้ ทางด้านปัจจัยดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบธนาคารพาณิชย์นั้น แนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของเศรษฐกิจไทย และการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่คงจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนในปี 2551 มากกว่าในปีนี้ ทำให้คาดว่าการเติบโตของสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2550 อาจจะไม่สูงไปกว่าอัตราการเติบโตในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ภาวะสภาพคล่องที่ยังมีแนวโน้มไม่ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันดังกล่าว คงจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในปี 2550 นอกเหนือไปจากการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงและการบริหารสภาพคล่องผ่านช่องทางการออกพันธบัตรธปท.จากทางการแล้ว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภายใต้การคาดการณ์แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากทางการลงประมาณร้อยละ 1.00-1.25 ในปี 2550 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของระบบธนาคารพาณิชย์อาจจะปรับลดลงได้เช่นกันที่ประมาณร้อยละ 0.50-1.25

[1] ธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย ทหารไทย กรุงศรีอยุธยา นครหลวงไทย ธนชาต ไทยธนาคาร ยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ (ไทย) สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ไทย ทิสโก้ เกียรตินาคิน และสินเอเซีย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน