เมื่อวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นต่างประเทศได้ปรับตัวลดลงอย่างมาก นำโดยการร่วงลงอย่างหนักของตลาดหุ้นในจีน โดยดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ได้ปรับตัวลดลงไปมากที่สุดในรอบ 10 ปี หรือลดลงไปร้อยละ 8.8 ทั้งนี้ การร่วงลงของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ดังกล่าวยังได้ส่งผลให้ดัชนี DJIA ของสหรัฐฯร่วงลงถึงร้อยละ 3.29 หรือ 416.02 จุด อันเป็นการปรับตัวลดลงเมื่อคิดเป็นดอลลาร์ฯที่มากที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์วินาศกรรมเมื่อเดือนกันยายน 2544 เป็นต้นมา ตามมาด้วยการที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคยังคงร่วงลงอย่างต่อเนื่องในวันพุธ ส่งผลให้เมื่อรวมวันอังคารและวันพุธ ที่ผ่านมานั้น ดัชนีตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ปรับตัวลงไปมากที่สุดรวมร้อยละ 9.25 รองลงมาได้แก่ ตลาดหุ้นมาเลเซียซึ่งลดลงไปร้อยละ 6 และตลาดหุ้นสิงคโปร์ปรับตัวลดลงไปร้อยละ 5.9 ขณะที่ตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นสหรัฐฯสามารถที่จะขยับขึ้นได้อีกครั้งในวันพุธ ทั้งนี้ การปรับตัวของตลาดหุ้นต่างประเทศเหล่านั้น ได้ส่งผลกระทบต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงไปร้อยละ 1.68 ในช่วงเวลาดังกล่าว ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นได้ในวันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม โดยปิดตลาดที่ 680.6 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.51 จากวันพุธ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวของตลาดหุ้นต่างๆ ในภูมิภาค
ช่วงที่ผ่านมา มีสาเหตุมาจากการปรับพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนของนักลงทุนหลังจากที่ตลาดหุ้นเหล่านั้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ความเสี่ยงในเรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจของประเทศจีน และสหรัฐฯ น่าจะยังมีอยู่อย่างจำกัด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า นักลงทุนคงจะติดตามความคืบหน้าของประเด็นทางเศรษฐกิจ ทั้งแนวนโยบายและตัวเลขเศรษฐกิจของทั้งจีนและสหรัฐฯที่จะประกาศในอนาคตต่อไปอย่างใกล้ชิด รวมไปถึง การประชุมสภาประชาชนจีนในสัปดาห์หน้า เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าของตลาดหุ้นทั้งสองในระยะต่อไปได้ ขณะที่ มองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของโลกยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่งในขณะนี้ ทำให้โอกาสที่จะเกิดภาวะถดถอยทั่วโลกคงจะยังไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ คาดว่านักลงทุนคงจะกระจายความเสี่ยงไปยังตราสารหลายประเภท และเริ่มมองหาแหล่งลงทุนอื่นๆที่มีความเสี่ยงน้อยลง เช่น การกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนในพันธบัตร หรือทองคำมากขึ้น ตามลำดับ
ในส่วนของตลาดหุ้นไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ถึงแม้จะยังคงมีแนวโน้มที่ตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบจากการปรับพอร์ตของตลาดทุนโลกในอนาคตเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของตลาดหุ้นไทยคงจะถูกกำหนดโดยปัจจัยพื้นฐานของเราเป็นหลัก โดยเฉพาะปัจจัยเฉพาะเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่อนต่างๆภายในประเทศว่าจะสามารถคลี่คลายไปในเชิงบวกมากขึ้นมากน้อยเพียงไร
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น