Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 พฤษภาคม 2550

ตลาดการเงิน

ดอกเบี้ยลด..ตลาดหุ้นผันผวน..โอกาสของกองทุนรวม (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1973)

คะแนนเฉลี่ย
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมานั้น ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงถึงร้อยละ 1.44 ไปปิดที่ 720.72 จุด โดยเป็นการปรับตัวในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค หลังจากที่นายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ได้ออกมากล่าวเตือนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับฐานอย่างรุนแรงในตลาดหุ้นจีน นอกจากนั้นแล้ว ตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันจากเหตุการณ์ในประเทศที่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนไทยหลายประการ เช่น ในเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองนับจากที่มีการยุบสภาจนถึงการทำรัฐประหารในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลของนักลงทุนก่อนการพิจารณาคดียุบพรรคการเมืองในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ เหตุการณ์ไม่แน่นอนในประเทศได้กดดันความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นับจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ชะลอตัวลงจากการชะลอตัวของทั้งการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 ในไตรมาส 1/2550 ชะลอลงจากร้อยละ 4.2 ในไตรมาส 4/2549

ภาวะความไม่แน่นอนต่างๆ ได้ส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยมีการเพิ่มการลงทุนในหลักทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงต่ำกว่ามากขึ้น เช่น เงินฝากธนาคาร หรือ กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมานั้น เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในประเทศโดยรวม ณ.สิ้นเดือน เมษายน มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 โดยเงินฝากในบางช่วงอายุยังคงมีอัตราการขยายตัวในระดับสูง ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะได้ปรับตัวลดลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นและกองทุนรวมตลาดเงิน (จนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2550) มีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากถึงร้อยละ 116 และร้อยละ 95.2 ตามลำดับ โดยการเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนดังกล่าว สอดคล้องกับผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ที่ได้สำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนจำนวน 300 ราย โดยเปรียบเทียบพฤติกรรมการลงทุนในปัจจุบันกับการลงทุนในปีที่ผ่านมาซึ่งพบว่า กว่าร้อยละ 77 ของผู้ลงทุนมองว่า ภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้มีการปรับพฤติกรรมการลงทุน ขณะที่ร้อยละ 23 ตอบว่า ไม่กระทบ นอกจากนั้น ผู้ที่ตอบว่าได้ปรับพฤติกรรมการลงทุนโดยการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์แต่ละประเภท และเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินสำหรับการลงทุนโดยรวม ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 35.4 และร้อยละ 35 ตามมาด้วย ผู้ที่ตอบว่าทำการเปลี่ยนแปลงประเภทหลักทรัพย์ที่จะลงทุนร้อยละ 20.2 เป็นต้น ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้ที่ลงทุนในหุ้นกว่าร้อยละ 53.2 ตอบว่าได้ปรับลดการลงทุนในหุ้นลงเมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากการที่นักลงทุนยังคงไม่มั่นใจบรรยากาศการลงทุนในปีนี้ ซึ่งยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงคิดเป็นร้อยละ 48 นอกจากนั้น มาจากการที่นักลงทุนเคยได้รับอัตราผลตอบแทนที่ลดลงจากการลงทุนในหุ้นในช่วงที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 21 และการที่นักลงทุนมองว่า หุ้นเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากกว่าหลักทรัพย์อื่นๆถึงร้อยละ 18 และนักลงทุนอีกร้อยละ 10 ตอบว่าเปลี่ยนไปลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทอื่นๆแทน นอกจากนั้น เมื่อพิจารณากลุ่มผู้ลงทุนที่ตอบว่า ได้ปรับลดการลงทุนในหุ้นลงจากในปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ลงทุนในกลุ่มดังกล่าวนี้กว่าร้อยละ 54 ได้หันไปเพิ่มการลงทุนในเงินฝากธนาคารมากขึ้น จากการที่เป็นช่องทางทีมีความเสี่ยงน้อย และผู้ลงทุนส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยมากกว่า รองลงมาได้แก่ ผู้ที่ตอบว่าเพิ่มการลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้นโดยมีสัดส่วนที่ร้อยละ 35

อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเริ่มที่จะปรับตัวลดลงมากขึ้นในระยะต่อไปจะส่งผลให้กลุ่มลูกค้าเงินฝากเริ่มลดความต้องการที่จะฝากเงินลงเพื่อแสวงหาช่องทางลงทุนอื่นที่มีความเสี่ยงในระดับไม่สูงมากและให้อัตราผลตอบแทนมากกว่าเงินฝาก โดยท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนดังกล่าวนั้น นักลงทุนยังคงมีโอกาสในการลงทุนที่หลากหลายนอกเหนือจากการฝากเงินกับธนาคาร โดยสามารถที่จะเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับความสนใจ ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ สภาพคล่องที่ต้องการและกรอบระยะเวลาการลงทุนที่เหมาะกับตนเอง เช่น ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย และต้องการลงทุนในระยะสั้น อาจเลือกลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ หรือตั๋วเงินคลัง ขณะที่ผู้ที่ต้องการลงทุนในระยะเวลาที่นานขึ้น อาจเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุกองทุนยาวขึ้น หรือผู้ลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น โดยได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น อาจจะเลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และมีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่น่าพอใจ เป็นต้น นอกจากนั้น หากปัจจัยต่างๆที่เป็นข้อกังวลของผู้ลงทุน โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและเศรษฐกิจมีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้นในระยะเวลาที่ยังเหลืออยู่ของปีนี้ ย่อมจะช่วยหนุนให้ทัศนคติและความสนใจในการลงทุนในหุ้นเป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้อีกครั้ง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน