Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 มิถุนายน 2550

ตลาดการเงิน

การประชุม FOMC ... คาดเฟดตรึงดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2006)

คะแนนเฉลี่ย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด คงจะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ร้อยละ 5.25 ตามเดิม ในการประชุมรอบที่สี่ของปีในวันที่ 27-28 มิถุนายน 2550 นี้ ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯส่วนใหญ่จะมีทิศทางการปรับตัวที่ดีกว่าคาด ทั้งเครื่องชี้ในตลาดแรงงาน ภาคการผลิต และภาคการบริการ แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯโดยรวมก็ยังคงสะท้อนภาพการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่ำกว่าระดับศักยภาพในปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง (หลังจากที่อาจมีแนวโน้มเติบโตได้สูงในไตรมาสที่สอง) ในขณะที่ แม้ว่าทิศทางอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งยังคงเป็นน้ำหนักความเสี่ยงที่เฟดให้ความสำคัญเป็นหลักในขณะนี้ อาจจะยังไม่ชะลอตัวลงมาอย่างชัดเจน อีกทั้งราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง แต่การทยอยปรับตัวลงของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็คาดว่าจะช่วยให้แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่ภายในระดับที่บริหารจัดการได้ของเฟด ดังนั้น จากปัจจัยแวดล้อมข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า เฟดยังมีความยืดหยุ่นที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้โดยที่ยังไม่จำเป็นต้องเร่งรีบเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินทั้งในลักษณะที่เข้มงวดมากขึ้นหรือผ่อนคลายลงในระยะใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามแถลงการณ์หลังการประชุมซึ่งจะบ่งชี้ถึงมุมมองที่เฟดมีต่อความเสี่ยงทั้งด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจและด้านเงินเฟ้อ ตลอดจนการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ โดยเฉพาะในตลาดแรงงานและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะมีอิทธิพลต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของเฟดในระยะถัดๆ ไป
สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และมุมมองที่มีต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด คงจะมีอิทธิพลต่อทิศทางตลาดเงินและตลาดทุนไทยผ่านทิศทางค่าเงินบาท/ดอลลาร์ฯ และอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรไทย ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเฟด จากแนวโน้มขาลงมาเป็นแนวโน้มขาขึ้น ได้ทำให้เงินดอลลาร์ฯปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น รวมถึงเงินบาท อีกทั้งยังมีส่วนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย) กระนั้นก็ดี แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ คงจะไม่ใช่น้ำหนักหลักที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยมากเท่ากับแนวโน้มการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน