Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 กรกฎาคม 2550

ตลาดการเงิน

ตลาดหุ้นไทย 10 ปีหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1982)

คะแนนเฉลี่ย
ในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้มีการฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด โดยตลาดหลักทรัพย์หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ มีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นหลายด้าน เนื่องจากรัฐบาลได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาตลาดทุนไทยมากขึ้นเพื่อลดบทบาทการพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ และป้องกันผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ในช่วงเวลาที่การซื้อขายเป็นไปอย่างซบเซาระหว่างปี 2543-2544 ทางรัฐบาลได้มีการออกมาตรการเร่งด่วนออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น 11 มาตรการเร่งด่วนฯในปี 2543 และมาตรการพัฒนาตลาดทุนไทย 31 มีนาคม 2544 เป็นต้น นอกจากนั้น ได้มีการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับแรกขึ้น (2545 – 2548) โดยในช่วงก่อนหน้าที่จัดทำแผนฯดังกล่าวนั้น ตลาดหุ้นไทยประสบปัญหาการซื้อขายซบเซาและตลาดมีขนาดเล็ก (เพียงกว่าร้อยละ 30 ของจีดีพี) ส่งผลให้วัตถุประสงค์ที่สำคัญในแผนพัฒนาฯฉบับแรกมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มในเชิงปริมาณทั้งขนาดของอุปสงค์และอุปทาน โดยสรุปพัฒนาการที่สำคัญ ได้แก่ ความสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนของมูลค่าหลักทรัพย์ ณ.ราคาตลาดต่อจีดีพีของไทยได้เพิ่มขึ้นสู่ร้อยละ 51.5 โดยเฉลี่ยหลังจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเป็นต้นมา ขณะที่สัดส่วนของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ต่อจีดีพีลดลงสู่ร้อยละ 84.8 เมื่อเทียบกับร้อยละ 116 ในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ มูลค่าการซื้อขายโดยเฉลี่ยต่อวันในตลาดหุ้นที่เพิ่มขึ้น จากประมาณ 4.2 พันล้านโดยเฉลี่ยในระหว่างปี 2539-2541 ไปอยู่ที่ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา Turnover Velocity ที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60 ในระหว่างปี 2539-2541 สู่ร้อยละ 73 ในปีที่ผ่านมา อันดับของตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก จากข้อมูลของ World Federation of Exchanges พบว่า อันดับของตลาดหลักทรัพย์ไทยในด้านต่างๆปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2541 เช่น มูลค่าของหลักทรัพย์ ณ.ราคาตลาด เพิ่มขึนจากอันดับที่ 40 เป็นอันดับที่ 36 มูลค่าการซื้อขายหมุนเวียนเพิ่มจากอันดับที่ 42 เป็นอันดับที่ 35 เป็นต้น การสนับสนุนให้มีช่องทางลงทุนใหม่ๆและผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น เช่น การจัดตั้งตลาดใหม่ในปี 2542 การเริ่มให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตในปี 2543 การจัดตั้งตลาดตราสารหนี้ (BEX)ในปี 2546 และบริษัท ตลาดอนุพันธ์ จำกัด ซึ่งได้เปิดให้มีการซื้อขาย SET 50 Index Futures ในปี 2549 เป็นต้นมา การเพิ่มอุปสงค์ในตลาดโดยเพิ่มจำนวนผู้ลงทุน รวมถึงเพิ่มบุคลากรในวงการตลาดทุน โดยได้มีการดำเนินการในเชิงรุกมากขึ้น เช่น การเดินสายประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับนักลงทุน ในรูปของการทำโรดโชว์ทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงการจัดตั้งบริษัทในเครือ เช่น บริษัท SETTRADE.COM และจัดตั้ง Investor Club เพื่อพัฒนาความรู้และคุ้มครองผลประโยชน์ผู้ลงทุน ตลอดจน การจัดตั้งสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน เพื่อเป็นสถาบันในการเผยแพร่ความรู้ การอบรมและพัฒนาบุคลากรทั้งในวงการตลาดทุน การจัดตั้งบริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว จำกัด เป็นต้น โดยจำนวนบัญชีของผู้ลงทุน (ในและนอกประเทศ) เพิ่มขึ้นจาก 216,410 บัญชีในปี 2544 เป็น 478,585 บัญชีในปี 2549 การส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อย โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติในปี 2545 และจัดตั้งศูนย์พัฒนาการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Center) การจัดทำรางวัล SET AWARDS การจัดโครงการประเมินคุณภาพการประชุมผู้ถือหุ้น การลดค่าธรรมเนียมรายปีในอัตราร้อยละ50 เป็นเวลา 2 ปีให้บริษัทจดทะเบียนที่ได้คะแนนการจัดอันดับดูแลกิจการที่ดีจากโครงการจัดอันดับการกำกับดูแลกิจการที่ดี การจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ เป็นต้น การปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เช่น การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น เกณฑ์การรับหลักทรัพย์จดทะเบียน รวมถึงลดขั้นตอนการพิจารณารับหลักทรัพย์จดทะเบียนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบริษัทในการเข้าจดทะเบียนในตลาด เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยได้เรียนรู้อย่างมากจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งมีการพัฒนาในหลายๆด้านซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ซึ่งส่งผลให้โอกาสที่จะเกิดวิกฤตการณ์ดังกล่าวขึ้นได้อีกครั้งมีอยู่อย่างจำกัด ปัจจัยทางเศรษฐกิจของไทยมีความแข็งแกร่งขึ้น ตามลำดับ เมื่อมองในด้านของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน รวมถึง หนี้ต่างประเทศได้ทยอยปรับตัวลดลงโดยตลอด ขณะที่ นโยบายค่าเงินบาทที่ได้เปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว โดย ธปท. ได้มีการดูแลการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด ในด้านของตลาดหุ้นนั้นสิ่งที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึง การคุ้มครองผู้ถือหุ้นโดยได้มีการพัฒนาในเรื่องของการสร้างความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล การความรับผิดชอบของกรรมการบริหาร การพัฒนาคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน โดยเน้นให้บริษัทจดทะเบียนมีระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ มีระบบเปิดเผยข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน และการกำกับดูแลสถาบันตัวกลางให้มีความแข็งแกร่ง ทั้งนี้หมายความถึงสถาบันการเงินทุกประเภท รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ เช่น การเร่งให้มีการจัดการความเสี่ยงที่ดีโดยนำหลักเกณฑ์เรื่องการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิมาใช้ เพิ่มมาตรฐานการให้บริการแก่ประชาชน และส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน ส่วนในด้านของธนาคารพาณิชย์ต่างๆก็ได้มีเกณฑ์ในการดำเนินการที่เข้มงวดและปรับให้เข้ากับหลักสากลมากขึ้น เช่น เกณฑ์ในการจัดชั้นลูกหนี้ที่เข้มงวดขึ้น และการกำหนดสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง การกำกับดูแลการซื้อขายจากทางการที่เข้มงวดขึ้น เช่น ในเรื่องของการจำกัดการหักลบค่าซื้อ และค่าขายหลักทรัพย์ในวันเดียวกัน (Net Settlement) และการซื้อขายแบบใช้ margin ในหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายที่ผิดปกติ รวมถึง การมีบทลงโทษผู้กระทำผิดที่เข้มขึ้น เป็นต้น นอกจากนั้น ทางด้านของนักลงทุนเองซึ่งยังคงจดจำบทเรียนจากวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมในการลงทุนมีความระมัดระวังและตระหนักถึงความเสี่ยงในการลงทุนมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน