Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 กรกฎาคม 2550

ตลาดการเงิน

ทิศทางค่าเงินบาท : อ่อนค่า…ถ้าลงทุนฟื้น (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1983)

คะแนนเฉลี่ย
แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พยายามเข้ามาดูแลการเคลื่อนไหวของเงินบาททั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสภาพคล่องเงินบาทให้กับผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non Resident) ที่มีการค้าหรือการลงทุนในประเทศรองรับ ไปเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา เพื่อลดภาระในการป้องกันความเสี่ยงสำหรับ Non Resident ที่เคยทำไว้ในตลาดต่างประเทศ และเพื่อลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยเงินบาทในตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังคงแข็งค่าทะลุแนวต้านสำคัญที่ 34 และ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปีครั้งใหม่ที่ 33.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2550 ได้ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางรายคาดการณ์ว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อได้ในระยะสั้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากความตื่นตระหนกและเร่งเทขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก ซึ่งมีความกังวลว่า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีกในอนาคตและจะทำให้ตนเองได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทมากกว่านี้ นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างชาติ และการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ อีกด้วย ซึ่งแนวโน้มในระยะสั้นของเงินบาทยังคงมีปัจจัยสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากแนวโน้มการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากปัญหาตลาดจำนองสำหรับผู้กู้ยืมที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ และจากแนวโน้มการหดแคบลงของความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม หากมองไปยังภาพที่ไกลขึ้นกว่านั้น เมื่อเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวขึ้น พร้อมๆ กับการกลับมาของความเชื่อมั่นของภาคเอกชน การขยายตัวของการลงทุนและการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าตามวัฏจักรเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว อาจช่วยทำให้แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ที่เกิดจากการเกินดุลการค้าชะลอลง ซึ่งก็จะช่วยลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทลง
ในระยะสั้น เงินบาทอาจมีโอกาสแข็งค่าขึ้นทดสอบแนวต้านที่ 33.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้ง แม้ว่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากการขยายตัวของการลงทุนและการนำเข้าหลังการเลือกตั้ง ดังนั้น ผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาวะนี้ได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ขณะนี้มาถึงจุดเปลี่ยนที่ผู้ส่งออกจะต้องใช้บทเรียนจากการแข็งค่าของเงินบาทในครั้งนี้มาศึกษา และทำการประเมินความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมๆ กับเร่งปรับตัว เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินตามรอยเดิมเมื่อความผันผวนของเงินบาทกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกครั้งในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน