Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 กันยายน 2550

ตลาดการเงิน

การประชุม FOMC 18 ก.ย. ... เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 เป็นอย่างน้อย (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2040)

คะแนนเฉลี่ย
จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจเริ่มมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ทยอยมีน้ำหนักลดน้อยลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด อาจมีความโน้มเอียงที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงร้อยละ 0.25 เป็นอย่างน้อยในการประชุมรอบที่หกของปีในวันที่ 18 กันยายน 2550 ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ขยับลดลงจากร้อยละ 5.25 ในปัจจุบัน มาที่ร้อยละ 5.00 ทั้งนี้เพื่อประคับประคองฐานะทางการเงินของผู้บริโภค และจำกัดผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อซับไพร์มที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในภาพรวม ถึงแม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯส่วนใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาจะยังไม่ได้สะท้อนถึงผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อซับไพร์มที่เด่นชัดมากนัก (ยกเว้นเครื่องชี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์และในตลาดแรงงาน) ในขณะเดียวกัน แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ก็น่าที่จะช่วยเอื้อให้เฟดสามารถดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงได้โดยไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมากเท่าในอดีต
อย่างไรก็ตาม หากเฟดประเมินว่าความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีมากขึ้นในระยะถัดๆ ไป จากผลกระทบของปัญหาสินเชื่อซับไพร์มต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงที่จะทยอยปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นในอนาคต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า มีความเป็นไปได้เช่นกันที่เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงมากกว่าร้อยละ 0.25 ในการประชุมวันที่ 18 กันยายนนี้ แต่ทางเลือกนี้อาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่า เพราะเฟดอาจจะไม่ต้องการให้เกิดภาวะฟองสบู่รอบใหม่ขึ้นมาอีกกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากที่ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯเพิ่งจะขยับลดลงมาเพียงเล็กน้อยจากที่ปรับขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน โอกาสที่เฟดจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงในการประชุมรอบนี้ ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าเฟดมีความเชื่อมั่นว่าปัญหาสินเชื่อซับไพร์มที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบจำกัดแค่ภาคธุรกิจการเงินและอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งหากเฟดไม่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือนักลงทุนเฉพาะกลุ่มที่ชอบความเสี่ยง ซึ่งจะกลายเป็นการสนับสนุนพฤติกรรม moral hazard
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ย Fed Funds แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดอาจยังมีแนวโน้มจะดำเนินการผ่านช่องทางอื่นควบคู่กันไปเพื่อแก้ปัญหาสินเชื่อซับไพร์ม ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องในระบบการเงิน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (Discount rate) และการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะ ซึ่งคงจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป นอกจากนั้น แถลงการณ์หลังการประชุมของเฟด และการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯในระยะถัดไป เป็นปัจจัยที่ยังต้องจับตา เพราะจะมีอิทธิพลต่อการคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ตลอดจนความเคลื่อนไหวของตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกด้วย
สำหรับผลกระทบต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) น่าจะเทน้ำหนักไปที่ปัจจัยภายในประเทศโดยเฉพาะการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลักมากกว่า เพราะผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อซับไพร์มที่คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง อาจจะไปปรากฏชัดเจนในปี 2551 มากกว่าในปีนี้ ดังนั้น หากการใช้จ่ายในประเทศสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปีตามที่คาดหวังไว้ ทดแทนกับแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง อัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ก็อาจมีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับตัวลดลงได้อีกเล็กน้อยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 นี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


ตลาดการเงิน