Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 มิถุนายน 2563

Econ Digest

ปัญญาประดิษฐ์...ตัวเร่งการฟื้นเศรษฐกิจจีนหลังโควิด-19

คะแนนเฉลี่ย

​ถึงแม้ว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา จีนจะเผชิญการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศเป็นระลอก ทั้งในมณฑลจี๋หลินและเฮยหลงเจียงเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. 2563 หรือแม้แต่ล่าสุดที่มีการพบผู้ติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มก้อนที่มหานครปักกิ่ง แต่จากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดที่เข้มข้นและดำเนินการอย่างรวดเร็ว ในรูปแบบใกล้เคียงกับการระบาดเป็นวงกว้างในช่วงเดือน ก.พ. - มี.ค. 2563 อาทิ คำสั่งกักบริเวณชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด คำสั่งการจำกัดการเคลื่อนย้ายบุคคลในเขตชุมชนข้างต้น หรือการพยายามค้นหาผู้ที่มีเชื้อให้ได้มากที่สุด (Mass testing) อาจพอจะอนุมานได้ว่า จีนจะสามารถรับมือไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างเป็นวงกว้างอีกครั้ง

บทเรียนที่ได้จากการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพของจีนในการระบาดระลอกแรก นอกเหนือจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดที่เข้มข้นและดำเนินการอย่างรวดเร็วการนำเอาเทคโนโลยีแห่งอนาคต (Next-generation technologies) ที่จีนได้พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) อย่างเทคโนโลยี Machine learning หรือการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data analytics) เข้ามาควบคุมการแพร่ระบาดให้เกิดประสิทธิผลและเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นปกติมากที่สุด (Business-as-usual) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้จีนอยู่ในแนวหน้าของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AI ของจีนในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่น่าสนใจ อาทิ เทคโนโลยี Deep learning สำหรับการประเมินความเป็นไปได้ของการติดเชื้อปอดอักเสบจากการอ่านภาพเอกซเรย์ทรวงอกโดยใช้ระยะเวลาราว 20 วินาที หรือสั้นกว่าระยะเวลาการวินิจฉัยโดยแพทย์ถึง 1 ใน 60[1] หรือการประยุกต์ AI เข้ากับเทคโนโลยี Internet of things ในภาคการผลิตแบบอัตโนมัติของบริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของจีนในเมืองอู่ฮั่น โดยไม่ต้องอาศัยพนักงานในช่วงเวลาที่มีมาตรการปิดเมือง ทั้งนี้ การระงับการแพร่ระบาดภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพของจีนด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีแห่งอนาคตข้างต้นส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของจีนฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว สะท้อนได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ในเดือน พ.ค. 2563 ที่จัดทำโดย Caixin กลับขึ้นมาอยู่ที่ 50.7 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนมีแนวโน้มกลับมาขยายตัว จากที่เคยร่วงลงไปแตะระดับต่ำสุดที่ 40.3 ในเดือน ก.พ. 2563

อนึ่ง การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจจะเป็นตัวจุดชนวนให้การพัฒนานวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับภาคเศรษฐกิจจริงให้สอดรับกับบริบทของพฤติกรรมผู้บริโภคของจีนที่เริ่มเปลี่ยนแปลงเด่นชัดมากขึ้น โดยผู้บริโภคชาวจีนเริ่มลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นทางกายภาพ (Physical activity) ลง ขณะที่พฤติกรรมการบริโภคและการผลิตที่เริ่มเน้นออนไลน์และใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น (Contactless) จะกลายมาเป็น New Normal แทน ซึ่งแนวทางการพัฒนานวัตกรรม AI ที่สามารถนำมาประยุกต์กับภาคเศรษฐกิจจริงในอนาคตของจีนอาจครอบคลุมถึง

  • เทคโนโลยีทางการเงินใม่ๆ (FinTech) ที่ช่วยลดกิจกรรมทางการเงินที่เป็น Physical activity อาทิ การเร่งพัฒนาธนาคารเสมือนจริง (Virtual banking) อย่าง WeBank ของ Tencent หรือ Mybank ของ Alibaba ซึ่งธนาคารเสมือนจริงจำต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data analytics) เพื่อส่งมอบประสบการณ์ทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบดิจิทัลให้กับลูกค้าของธนาคารได้อย่างสมบูรณ์แบบและตรงกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่ง AI สามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในส่วนนี้
  • นวัตรรมการผลิตแบบ Intelligence manufacturing ที่นวัตกรรม AI สามารถนำมาประยุกต์เข้ากับการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติในภาคการผลิต อาทิ การใช้เทคโนโลยี Machine learning กับระบบหุ่นยนต์อุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับสภาวะการทำงานของพนักงาน หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานของหุ่นยนต์ให้เหมาะสมกับข้อจำกัดของเครื่องจักรได้ทันท่วงที

ทั้งนี้ หากกล่าวถึงการผลิตโดยใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ภาคการผลิตของจีนได้ทยอยปรับใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติในภาคการผลิตมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยจำนวนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสะสมของจีนในปี 2561 อยู่ที่ราว 650,000 เครื่อง เติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยราวร้อยละ 35 ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2551-2561 ซึ่งกว่าร้อยละ 55 อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ากแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คาดว่าจะเป็นปัจจัยเร่งภาคอุตสาหกรรมการผลิตจีนให้หันมาปรับใช้นวัตกรรมการผลิตแบบ Intelligent manufacturing ซึ่งใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของการหยุดชะงักทางธุรกิจ อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับต้นทุนแรงงานในภาคการผลิตจีนที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานโดยรวม ประกอบกับโครงสร้างของตลาดแรงงานจีนที่เผชิญการหดตัวของกำลังแรงงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 จากการเข้าสู่สังคมสูงวัย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาวะการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตของจีนเริ่มลดลงในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับกระแสติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น โดยลดลงโดยเฉลี่ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อปีระหว่างป 2559-2561 ซึ่งหากนำมาเปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในช่วงเดียวกันอาจพออนุมานได้ว่า การติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 1 เครื่องของจีนสามารถทดแทนแรงงานในภาคการผลิตได้ราว 30 คน เนื่องจากประเภทของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ติดตั้งในจีนกว่าร้อยละ 60 ในช่วงระยะเวลาข้างต้นเป็นหุ่นยนต์ประเภทหยิบจับชิ้นงาน (Handling robot) และประเภทงานเชื่อม (Welding robot) ซึ่งทดแทนแรงงานบางส่วนได้ ทั้งนี้ ความท้าทายทางด้านการจ้างงาน ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือบางส่วนที่อาจมาจากโครงสร้างของตลาดแรงงานจีนเองที่กระตุ้นให้ภาคธุรกิจหันมาปรับใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากขึ้น นับเป็นประเด็นที่จีนหยิบยกขึ้นมารวมอยู่ใน หกเสถียรภาพ" ที่ทางการจีนให้ความสำคัญในการประชุมสองสภาเมื่อช่วงปลายเดือน พ.. 2563 ที่ผ่านมา







[1] เทคโนโลยีของ Alibaba อ้างอิงจาก Asia Nikkei

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest