Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 มีนาคม 2566

Econ Digest

ตลาดบ้านปี 66 ความต้องการยังมี...แต่จะปรับแผนการซื้อตามปัจจัยเศรษฐกิจ

คะแนนเฉลี่ย

​        ปี 66 ตลาดที่อยู่อาศัยได้รับปัจจัยบวกมากขึ้น จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหนุนรายได้ครัวเรือนฟื้นตัว   การเปิดประเทศของจีนส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและตลาดที่อยู่อาศัย ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นกลับมาลงทุนมากขึ้น รวมถึงผลบวกจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และการจดจำนองที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายของประชาชน  อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงเผชิญความไม่แน่นอน ทั้งจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาที่เกิดกับบางธนาคารในสหรัฐฯ สงครามรัสเซียและยูเครน นโยบายภาครัฐหลังการเลือกตั้ง และอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มปรับขึ้นต่อ   
นอกจากนี้ ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจในปัจจุบันต่อทิศทางการวางแผนการซื้อที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ ในช่วง 1-2 ปีนี้ ยังสะท้อนประเด็นที่น่าสนใจ  ดังนี้

  • 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานอายุ 36-40 ปี หรือ Gen Y ส่วนใหญ่ซื้อเพราะต้องการความเป็นอิสระ มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เหตุผล รองลงมาคือเพื่อขยับขยายครอบครัวและหาที่อยู่ใกล้ที่ทำงานหรือโรงเรียน
  • มากกว่าครึ่ง (66%) สนใจซื้อที่อยู่อาศัยมือหนึ่ง รองลงมามองหาที่อยู่อาศัยมือสอง (31%) ระดับราคาเฉลี่ยที่อยู่อาศัยที่กลุ่มตัวอย่างต้องการซื้ออยู่ที่ราว 3.18 ล้านบาท  โดยคอนโดมิเนียมได้รับความสนใจมากที่สุด (38%)  รองลงมาคือทาวน์เฮ้าส์ (27%)
  • กลุ่มตัวอย่างพร้อมที่จะปรับแผนการซื้อตามปัจจัยเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และความพร้อมทางการเงิน  เช่น ภาระหนี้ที่ต้องชำระต่อเดือนและเงินออม เพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน โดยเฉพาะกลุ่มกลุ่มที่มีภาระหนี้สินต่อเดือนสูงและกลุ่มอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน


        อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเอื้อต่อการซื้อที่ลดลง เช่น การไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลายเพดาน LTV เป็น 100%   ของธปท.  อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น และกำลังซื้อที่ยังเปราะบาง ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อกิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัย   โดยคาดว่ายอดจองซื้อที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี 66 น่าจะมีจำนวนราว 0.95 – 1.01 แสนหน่วย หรือหดตัว 2.8% ถึงขยายตัว 3.4% ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล น่าจะอยู่ที่ราว 1.80 – 1.88 แสนหน่วย หดตัว 7.7% ถึงหดตัว 3.5% จากปี 65   โดยกลุ่มที่มีการฟื้นตัวน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้า กรุงเทพฯ รอบนอก ระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท

 


Click
 ชมคลิป ตลาดบ้านปี 66 ความต้องการยังมี...แต่จะปรับแผนการซื้อตามปัจจัยเศรษฐกิจ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น