Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 ธันวาคม 2566

Econ Digest

COP28 เปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิล เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน

คะแนนเฉลี่ย

        เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 หรือ COP28 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปิดฉากด้วยฉันทามติที่ขอให้ประเทศภาคีดำเนินการเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net zero ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) พร้อมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy: RE) ทั่วโลกขึ้นเป็น 3 เท่าภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ส่งผลให้ประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ต้องหันมาวางแผนเพื่อเตรียมทยอยลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล ทั้งนี้ ปัจจุบัน ภาครัฐไทยก็กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะเร่งสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า RE จากปัจจุบันที่อยู่ราวร้อยละ 13.3 ของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยจะบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ที่จะถูกประกาศใช้ช่วงต้นปีหน้า ขณะที่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการในการขับเคลื่อนให้ไทยมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีความยืดหยุ่นน้อยในการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่าน
        ในส่วนของภาคธุรกิจไทย ผู้ประกอบการต่างก็อยู่ในช่วงของการเริ่มลงทุนและนำไฟฟ้า RE มาใช้ เพื่อตอบสนองกระแสคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงกติกาการค้าโลก โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ RE100 ซึ่งประกาศเจตนารมณ์ที่จะใช้ไฟฟ้าสะอาดในการดำเนินธุรกิจทั้งหมด โดยปัจจุบันมีอยู่ราว 91 องค์กรในไทย และส่วนใหญ่มักกระจุกตัวอยู่ในภาคพลังงานกว่าร้อยละ 58 ในขณะที่ราวร้อยละ 26 จะอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต และที่เหลือราวร้อยละ 16 จะอยู่ในภาคเกษตรและบริการ
       


        ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในระยะ 3 ปีข้างหน้า แนวโน้มการลงทุนสำหรับตลาดไฟฟ้า RE ภาคธุรกิจไทยน่าจะขยายตัวราวร้อยละ 75 ต่อปี ตามกระแสความต้องการลด carbon footprint และค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าขององค์กร โดยองค์กรธุรกิจน่าจะยังคงให้ความนิยมการลงทุนในรูปแบบ “Private PPA” (Private Power Purchase Agreement) และ “เจ้าของกิจการลงทุนเอง” แต่ก็ต้องเผชิญการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นตามลำดับกับ “บริการไฟฟ้าสีเขียว” ของหน่วยงานภาครัฐที่จะเริ่มเปิดให้บริการในช่วงปี 2567
 

        สำหรับการลงทุนไฟฟ้า RE ในรูปแบบ Private PPA ซึ่งผู้ให้บริการจะเป็นผู้ลงทุนและบำรุงรักษาระบบแทนองค์กรธุรกิจ น่าจะได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง ที่ใช้ไฟในปริมาณค่อนข้างมากโดยเฉพาะภาคการผลิต และไม่ต้องการแบกรับภาระจากการลงทุน ในขณะที่การลงทุนในรูปแบบเจ้าของกิจการลงทุนเอง คาดว่า จะยังคงได้รับความนิยมในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพในการลงทุน และต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมถึงสิทธิประโยชน์จาก BOI
นอกจากการลงทุนหรือใช้บริการไฟฟ้า RE ในรูปแบบต่างๆ ข้างต้น องค์กรธุรกิจที่มีข้อจำกัดในการลงทุนหรือเข้าถึงบริการไฟฟ้าสะอาด ก็สามารถซื้อใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) จากผู้ผลิตไฟฟ้า RE รายอื่นเพื่ออ้างสิทธิ์ไฟฟ้าสะอาดเพิ่มเติมได้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของการวางแผนเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ไฟฟ้า RE อย่างไรก็ดี แม้ตลาดซื้อขาย REC ไทยจะยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระยะข้างหน้า แต่อุปสงค์อาจจะเร่งตัวมากกว่าอุปทาน จนส่งผลให้เกิดภาวะอุปทานตึงตัว และผลักดันต้นทุนการซื้อขาย REC ให้เพิ่มสูงขึ้นได้
        โดยภาพรวม แนวโน้มการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด น่าจะมีส่วนหนุนให้เกิดกระแสลงทุนไฟฟ้า RE ในระดับสากล และนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลายสำหรับผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจผลิตแผงโซลาร์และแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานทั้งเพื่อขายในประเทศและส่งออก ธุรกิจรับติดตั้งและบำรุงรักษาแผงโซลาร์ หรือแม้แต่โอกาสการลงทุนในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์และลมในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี อังกฤษ และเวียดนาม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แต่ละกิจการคงต้องชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าของการลงทุนตามความเหมาะสมกับสถานะความพร้อมของธุรกิจตน 

 


Click
 ชมคลิป COP28 เปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิล เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest