Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 พฤษภาคม 2567

Econ Digest

การซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ในไทย ต้องทำอย่างไร?

คะแนนเฉลี่ย

การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยต้องทำอย่างไร  

บทนำ

ต่อเนื่องจากบทความ อยากรู้…คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ทำกำไรได้หรือไม่? ที่ได้เกริ่นไปแล้วว่าคาร์บอนเครดิตคืออะไร มีอยู่กี่ประเภท นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร นำไปซื้อขายได้อย่างไร รวมถึงสามารถทำกำไรได้หรือไม่

ในบทความนี้ จะพูดถึงเรื่องคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ในประเทศไทย และตอบคำถามเพิ่มเติมว่าทำอย่างไรจึงจะได้คาร์บอนเครดิตและมีปัจจัยใดบ้างที่ต้องพิจารณา พร้อมทั้งพูดเรื่องข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ในประเทศไทย

ในการดำเนินการที่ลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกจะต้องได้รับการรับรองโดยหน่วยงานรับรองตามระเบียบหรือเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อขึ้นทะเบียนโครงการและได้รับคาร์บอนเครดิต โดยในประเทศไทยมีการจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ชื่อว่า Thailand Voluntary Emission Reduction Program หรือ T-VER ซึ่งมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นหน่วยงานขึ้นทะเบียนโครงการและให้การรับรองคาร์บอนเครดิต โดยเป็นกลไกคาร์บอนเครดิตในรูปแบบ Governmental Crediting Mechanism

ทั้งนี้ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่สามารถไปขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER เพื่อรับรองคาร์บอนเครดิต จะครอบคลุมการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3 ชนิด ได้แก่ CO2 CH4 และ N2O แต่ต้องเข้าข่าย 7 ประเภทโครงการหลักตามที่ อบก. กำหนด ดังนี้

  1. Renewable Energy
  2. Factory
  3. Transport
  4. Waste
  5. Energy Efficiency
  6. Land Use
  7. Carbon Capture Utilization and Storage
โดยมีตัวอย่างโครงการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการแล้วในตารางที่ 1
ตัวอย่างโครงการคาร์บอนเครดิตที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน  

พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ทำได้อย่างไร

    การพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต มีขั้นตอนดำเนินการดังนี้
  1. ในขั้นตอนแรกก่อนเริ่มพัฒนาโครงการ ผู้พัฒนาโครงการจำเป็นต้องมีการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์เพื่อทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง โดยสามารถวัดได้ในรูปแบบของคาร์บอนฟุตพรินท์องค์กร (CFO) หรือ คาร์บอนฟุตพรินท์ผลิตภัณฑ์ (CFP) เพื่อประเมินหากิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก หรือ Emission Hotspots
  2. จากนั้นจะได้หาแนวทางเพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมนั้น ๆ ผ่านการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตได้ผ่าน อบก. ตามระเบียบ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องที่ อบก. กำหนด
  3. ไปขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER เพื่อการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก และเมื่อดำเนินโครงการสำเร็จจึงสามารถขอรับรองคาร์บอนเครดิตจาก อบก. ตามรูปที่ 1
ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนและรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกในโครงการT-VER  
    ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้พัฒนาโครงการต้องพิจารณาในการดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิต ได้แก่
  1. ต้นทุนการดำเนินโครงการ เช่น ต้นทุนค่าธรรมเนียมโครงการ T-VER แก่ อบก. ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนโครงการ 5,000 บาทต่อโครงการ และค่าธรรมเนียมขอรับรองคาร์บอนเครดิต 5,000 บาทต่อคำขอ รวมถึงต้นทุนค่าดำเนินงานอื่น ๆ เช่น เงินลงทุนการเปลี่ยนอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องจักร เป็นต้น
  2. ต้นทุนแก่ผู้ประเมินประเมินภายนอก (Third Party Verification) ได้แก่ ต้นทุนตรวจสอบโครงการ และปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งขึ้นอยู่กับความซับซ้อน และแตกต่างไปตามประเภทของโครงการ ซึ่งอาจอยู่ที่ประมาณ 40,000 – 65,000 บาทต่อโครงการ (รายชื่อผู้ประเมินภายนอกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดย อบก.)
  3. ข้อจำกัด เช่น โครงการประเภทป่าไม้จะมีข้อกำหนดขนาดแปลงขั้นต่ำ 10 ไร่ การถือครองเอกสารสิทธิ์ในการใช้ที่ดิน ข้อกำหนดรอบตัดฟันไม้ในพื้นที่โครงการระยะเวลา 10 ปี หรือโครงการประเภทอื่นๆ ต้องเป็นกิจกรรมที่เพิ่มเติมจากการดำเนินการในรูปแบบปกติ (Additionality) จึงจะสามารถขอรับรองคาร์บอนเครดิตได้

กรณีต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)

ในอีกกรณีหนึ่ง คือการซื้อคาร์บอนเครดิต หากการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตยังไม่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ โดยผู้ที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปใช้ประโยชน์สามารถเปิดบัญชี T-VER Credit ในระบบทะเบียน (Registry) ของ อบก. เพื่อใช้สำหรับเก็บบันทึกปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองมาแล้ว และตัดออกจากบัญชีเมื่อมีการใช้งานคาร์บอนเครดิต

โดยช่องทางการซื้อขายสามารถดำเนินการผ่านการติดต่อกับผู้ขายโดยตรง (Over-the-Counter) ผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ FTIX ในประเทศไทย หรือสามารถเปิดบัญชีกับ Platform Trading Carbon Credit ของต่างประเทศ เช่น CBL Xpansiv, Air Carbon Exchange, Carbon Trade Exchange เป็นต้น เพื่อซื้อคาร์บอนเครดิตในมาตรฐานอื่น ๆ เพิ่มเติมได้

หน้าต่างการซื้อขายในแพลทฟอร์มFTIX  

ปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ในโครงการ T-VER

ประเทศไทยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตตั้งแต่ ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน (เมษายน 2567) จำนวน 3,258,033 tCO2eq มูลค่าการซื้อขายรวม 292 ล้านบาท คิดเป็นราคาเฉลี่ยตันละ 89.6 บาท

ทั้งนี้ ปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา (รูปที่ 3) ตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ปริมาณการซื้อขายยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.77% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยทั้งหมด ซึ่งอาจจะยังห่างไกลจากเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2593

ปริมาณและมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการT-VER  

เมื่อพิจารณาข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากตารางที่ 2 พบว่า ประเภทโครงการที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุดเป็นโครงการประเภทชีวมวล (41% ของปริมาณการซื้อขายรวม) เนื่องจากสามารถดำเนินการได้ง่าย แต่ก็จะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าโครงการประเภทอื่นที่ 36 บาทต่อตัน

ปริมาณและราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตในโครงการT-VER  

แต่ที่น่าสนใจคือราคาคาร์บอนเครดิตในโครงการประเภทป่าไม้มีราคาเฉลี่ยสูงถึง 290 บาทต่อตัน (และเฉลี่ย 510 บาทต่อตัน ในปี 2567) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมโดยเป็น 23% ของ เครดิตทั้งหมด ในปี 2657 ทำให้การเลือกประเภทโครงการคาร์บอนเครดิตเป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณา เพราะราคาที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อกระแสเงินสดที่จะได้รับจากโครงการ

ท้ายที่สุด ประเด็นด้านต้นทุนการดำเนินการ ต้นทุนค่าประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิต รวมถึงข้อจำกัดในการทำโครงการต่าง ๆ คงเป็นปัจจัยที่ยังคงเหนี่ยวรั้งการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ โดยเฉพาะจากผู้พัฒนาโครงการรายเล็กที่ขาดแคลนเงินทุน แต่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต โดยเฉพาะภาคป่าไม้ที่เป็นที่ต้องการในอนาคต ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาปิดช่องว่างเหล่านี้ ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยน่าจะก้าวทันโลก และมีส่วนช่วยให้ตอบโจทย์การเป็นประเทศปลอดคาร์บอนในปี พ.ศ. 2608 ของประเทศไทยอย่างแน่นอน


 


Click
 ชมคลิป การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทย ต้องทำอย่างไร?

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest

ESG