Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 กรกฎาคม 2567

Econ Digest

การประชุม China’s Third Plenum คาดทางการจีนเน้นย้ำถึงการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

คะแนนเฉลี่ย

การประชุมใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 20ครั้งที่ 3 (China’s Third Plenum) ที่จัดขึ้นทุก 5 ปี และถูกเลื่อนมาจากช่วงปลายปี 2566 กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 15-18 ก.ค. 2567 ซึ่งการประชุมฯ จะมีการประกาศทิศทางการดำเนินนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจระยะยาว โดยที่ผ่านมา การประชุมฯ ปี 2521 มีการประกาศเริ่มต้นปฏิรูปเศรษฐกิจทุนนิยม การประชุมฯ ปี 2556 มีการประกาศผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียวเพื่อรับมือกับปัญหาเรื่องแรงงานและประชากรสูงวัย

  • สำหรับการประชุม Third Plenum ครั้งนี้คาดว่าทางการจีนจะยังคงเน้นแนวนโยบายการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและเน้นย้ำถึงแนวทางการดำเนินนโยบายเดิมที่ได้ประกาศไว้ในการประชุมสองสภาของจีนเมื่อเดือนมี.ค.2567 ที่ผ่านมา เช่น การสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อที่จะนำพาประเทศจีนไปสู่ความทันสมัยในแบบของประเทศจีน (Chinese-style Modernization) โดยรายละเอียดที่สำคัญที่คาดว่าจะมีการกล่าวถึง คือ  
  • การปฏิรูปภาษีและนโยบายการคลัง ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องมาจากการประชุมแผนงานด้านเศรษฐกิจส่วนกลางของจีน (CEWC) ในช่วงปลายปี 2566 โดยคาดว่าจะมีการจัดสรรสัดส่วนรายได้จากภาษีให้กับรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มขึ้น  และเพิ่มรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกับรัฐบาลกลาง เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลทางการคลัง และปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น
  • แนวนโยบายที่สนับสนุนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกำลังการผลิตคุณภาพใหม่ (New Productive Forces) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไป และสอดคล้องกับการพึ่งพาตนเองด้านของเทคโนโลยีมากขึ้น
  • การผ่อนคลายนโยบายย้ายถิ่นฐานจากชนบทสู่เมือง (Hukou System) ที่เดิมมีไว้เพื่อควบคุมการย้ายถิ่นฐานภายในประเทศซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการของคนในพื้นที่เขตเมืองและท้องถิ่น ดังนั้นการผ่อนคลายหรือยกเลิกระบบดังกล่าวจะทำให้เกิดความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานและการได้รับสิทธิประโยชน์ทางสังคมอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนความเป็นสังคมเมือง (Urbanization) ที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป
  • นอกจากนี้ ประเด็นอื่น ๆ ที่ตลาดจับตามอง ได้แก่ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจจีนปี 2567 เติบโตได้ตามเป้าหมายของทางการจีนที่ 5% ท่ามกลางสถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังกดดันความเชื่อมั่นภาคการบริโภคและภาคธุรกิจ คาดว่าทางการจีนจะมีการประกาศแนวทางหรือมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม เช่น การเพิ่มวงเงินในโครงการที่ให้รัฐบาลท้องถิ่นเข้าซื้อบ้านค้างสต็อก  รวมถึงมาตรการสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศในรูปแบบการสร้างความต้องการสินค้า เช่น ปัจจุบันที่มีโครงการสินค้าเก่าแลกสินค้าใหม่ (Trade in) อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ เป็นต้น  

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น