Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 กรกฎาคม 2565

Econ Digest

เกิดอะไรขึ้นกับตลาดคริปโทเคอร์เรนซี? เรียนรู้เพื่อปรับปรุง และเติบโต

คะแนนเฉลี่ย

​ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีคริปโทเคอร์เรนซีใหม่ๆ เกิดขึ้นในตลาดเป็นจำนวนมาก ขณะที่ ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายที่กระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดคริปโทฯ เช่นกัน ยกตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญได้แก่ วิกฤต Stablecoin อย่าง UST (TerraClassicUSD) รวมถึงเหรียญดิจิทัลอย่าง LUNA (Terra Classic: LUNC) ที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนในตลาดกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นวันก่อนที่มูลค่าจะลดลงแรง UST มีมูลค่าตลาดราว 28,350.3 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ LUNA มีมูลค่าตลาดราว 18,665.4 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ) การประกาศล้มละลายของ Celsius Network ที่เป็นแพลตฟอร์มกู้ยืมคริปโทเคอร์เรนซีรายใหญ่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการล่มสลายของ UST และ LUNA การปิดตัวของ CryptoCars ซึ่งเป็นเกม NFT ชื่อดังที่เป็นที่นิยมของเหล่าเกมเมอร์คนไทย และล่าสุด คือการประกาศระงับการให้บริการ ZipUp รวมถึงการถอนเงินออกจาก Z Wallet ของ Zipmex ซึ่งเป็นผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย อันเนื่องมาจากปัญหาการขาดสภาพคล่องของคู่ค้าบางรายข้างต้น ที่ทาง Zipmex Global ได้นำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าจาก Zipmex ในไทยไปลงทุนไว้อีกทอดหนึ่ง

จากเหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าว ทำให้เกิดการเรียนรู้ข้อเท็จจริงของสินทรัพย์กลุ่มนี้และปัญหาบางประการที่เราอาจมองข้ามไป หากตลาดคริปโทเคอร์เรนซีอยู่ในจังหวะขาขึ้นอย่างเดียว อย่างเช่น การย้ำภาพคริปโทเคอร์เรนซีที่มีความผันผวนสูงตามธรรมชาติ และการขึ้นดอกเบี้ยเฟดก็ทำให้ความผันผวนของราคาร่วมกับแรงเทขายคริปโทเคอร์เรนซีเหมือนสินทรัพย์เสี่ยงประเภทอื่นๆ ชัดเจนขึ้นอีก โดยในปัจจุบัน (ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2565) ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีมีมูลค่า 1.06 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงกว่าร้อยละ 52.1 จากช่วงต้นปี (ณ วันที่ 1 มกราคม 2565) ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ เทคโนโลยีหรือระบบ Algorithm ในหลายๆ สกุลเงินดิจิทัล รวมถึงแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้อง ถูกพิสูจน์และทดสอบจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด อาทิ การเทขายของนักลงทุนรายใหญ่ในปริมาณมหาศาล ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลยังเดินหน้ากับช่องทางการทำธุรกิจหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ผู้ลงทุน หรือแม้แต่ผู้กำกับดูแลทั่วโลกก้าวตามไม่ทัน ท่ามกลางโลกสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไร้พรมแดน มีความเชื่อมโยงระหว่างกันสูง

บทเรียนหลายกรณีที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นความหลากหลายของปัญหาในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งมีสาเหตุและที่มาแตกต่างกัน จึงกลายเป็นภาพที่สะท้อนให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทางการ นักลงทุน รวมถึงผู้เล่นในตลาดอย่างผู้ออกคริปโทเคอร์เรนซี นักพัฒนาแพลตฟอร์ม รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาเป็นไปในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีมากขึ้น อันจะนำไปสู่การแก้ไขและพัฒนาให้เติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต

สำหรับส่วนของนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีก็ควรต้องตรวจสอบตนเองว่ามีความเข้าใจในประเด็นต่างๆ เหล่านี้มากน้อยเพียงใด ก่อนตัดสินใจลงทุน

1)    ความเสี่ยงและความผันผวนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี เพื่อให้เข้าใจในความเป็นไปของตลาด ควบคู่กับการประเมินระดับการยอมรับความเสี่ยงของตนเอง หากเกิดกรณีมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซีที่ถืออยู่ลดลงแรงในเวลาอันรวดเร็ว จนอาจสูญเสียเงินต้นมากกว่าร้อยละ 80 หรือทั้งหมด เพราะคริปโทเคอร์เรนซียังไม่มีปัจจัยพื้นฐานที่ชัดเจนมารองรับความเคลื่อนไหวด้านราคา จึงทำให้ความเคลื่อนไหวของราคาคริปโทเคอร์เรนซีมักขึ้นอยู่กับข่าว ความต้องการซื้อ-ขายของนักลงทุนรายใหญ่ (Whale) รวมไปถึงการยอมรับการมีอยู่หรือการใช้งานจากองค์กรขนาดใหญ่ รวมถึงท่าทีของทางการในแต่ละประเทศ

2)    กลไกการสร้างคริปโทเคอร์เรนซีเชิงเทคนิคและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลไกการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยนักลงทุนควรต้องทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ให้มากที่สุดก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อ ลดความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

3)    กรอบการดำเนินการตามกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทางการ อาทิ ขอบเขตวงเงินที่ทางการอนุญาตให้ลงทุนได้ รายชื่อผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับทางการ รวมถึงกิจกรรมที่ทางการอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถทำได้ เพื่อเป็นการดูแลความเสี่ยงจากการลงทุน และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเพราะเป็นการลงทุนที่ไม่มีทางการคุ้มครอง

4)    ความปลอดภัยและความมีเสถียรภาพของระบบการซื้อขาย ภายใต้หลักธรรมาภิบาลของผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อป้องกันการสูญเสียโอกาสจากการลงทุน และหลีกเลี่ยงการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีที่ถูกทำราคาด้วยการสร้างดีมานด์เทียม ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามกลไกของตลาด

5)    ข้อมูลการออกคริปโทเคอร์เรนซีที่ต้องการลงทุนโดยภาพรวม โดยนักลงทุนควรต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ ใน White paper ให้ครบถ้วนก่อนพิจารณาลงทุน อาทิ ความน่าเชื่อถือของผู้ออก วัตถุประสงค์ของผู้ออก สิทธิประโยชน์และผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคต เพื่อเข้าใจถึงที่มาและความสำคัญ รวมถึงสิ่งที่จะได้รับจากการลงทุน อันจะสร้างความมั่นใจให้กับตนเองก่อนตัดสินใจเลือกลงทุน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest