Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 กรกฎาคม 2563

Econ Digest

สินเชื่อดิจิทัล...ในไทย จะโตได้...ต้องใช้ข้อมูลทางเลือกและการลงทุนเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ

คะแนนเฉลี่ย
            สินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) เป็นให้บริการสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ โดยอาจใช้ข้อมูลทางเลือกอื่นที่นอกเหนือจากข้อมูลรายการเดินบัญชีหรือรายได้ เพื่อประกอบการพิจารณาเครดิต  และใช้เทคโนโลยี AI หรือ Big Data Analytics มาช่วยในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อให้มีความรวดเร็วมากขึ้น ให้สามารถขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ที่อาจยังไม่เคยเข้าถึงหรือมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินหลักในระบบมาก่อน เช่น กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ รับจ้าง กลุ่มค้าขายที่มีรายได้ไม่แน่นอน รวมถึงกลุ่มบุคคลทั่วไปที่มีเงินได้ประจำปานกลางระดับต่ำ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบของสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน 

              การให้บริการสินเชื่อดิจิทัลในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีขนาดเล็ก เนื่องจากผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลไม่มีข้อมูลเครดิตลูกค้าที่เพียงพอต่อการประเมินความเสี่ยง ส่งผลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลโดยส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะให้สินเชื่อแก่ลูกค้ากลุ่มเดิมที่มีประวัติการชำระหนี้ดี รวมถึงลูกค้ารายใหม่ที่มีรายได้แน่นอนหรือมีรายการเดินบัญชีที่ชัดเจนเป็นหลัก โดยผู้ให้บริการมักทำการอนุมัติวงเงินขนาดเล็ก ระยะเวลากู้ยืมแบบสั้น 1–3 เดือน และคิดดอกเบี้ยในระดับสูง ซึ่งเหมาะสำหรับลูกค้าที่ต้องการเงินฉุกเฉินเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือใช้หมุนเวียนในกิจการขนาดเล็ก ตลาดสินเชื่อดิจิทัลในไทยจึงมีมูลค่าที่ไม่สูงมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2563 ตลาดสินเชื่อดิจิทัลทั้งระบบน่าจะมียอดคงค้าง 12,000–12,500 ล้านบาท หรือ 0.2% ของยอดคงค้างสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด

              ​ผู้ให้บริการสินเชื่อดิจิทัลมีโอกาสขยายฐานลูกค้าด้วยการมุ่งเน้นทำตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ๆ ได้อีกมาก โดยเฉพาะหลังจากเศรษฐกิจฟื้นเมื่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง  แต่การจะทำเช่นนั้นได้ จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยผลักดันสองประการ ได้แก่ การขยายขอบเขตการใช้ข้อมูลในการพิจารณาสินเชื่อไปสู่การใช้ข้อมูลทางเลือกมากขึ้น อาทิ ข้อมูลชำระค่าสาธารณูปโภค พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ พฤติกรรมการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ฯลฯ และการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของกลุ่มผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือฟินเทค เพื่อให้กระบวนการพิจารณาสินเชื่อเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ๆ สามารถเข้าถึงบริการได้ในวงกว้างมากขึ้น 


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest