Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 มีนาคม 2567

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 26 ก.พ. – 1 มี.ค. 67)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ก่อนที่จะกลับมาอ่อนค่าทะลุแนว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ช่วงสั้นๆ ของนักลงทุนก่อนการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจากดัชนีราคา PCE และ Core PCE ของสหรัฐฯ ทั้งนี้เงินบาทฟื้นตัวกลับมาเคลื่อนไหวในฝั่งที่แข็งค่ากว่าแนว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้อีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ แต่กรอบการแข็งค่าของเงินบาทยังคงเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากยังคงขาดปัจจัยใหม่ๆ มาหนุน และตลาดกลับมารอติดตามปัจจัยสำคัญในสัปดาห์ถัดไป อาทิ สุนทรพจน์ของประธานเฟด (6-7 มี.ค.) และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ (8 มี.ค.)
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 4-8 มี.ค. 2567 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.50-36.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของไทย สุนทรพจน์ของประธานเฟด ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ ผลการประชุมนโยบายการเงินของ ECB ตัวเลขการส่งออกเดือนม.ค.-ก.พ.ของจีน ตลอดจนดัชนี PMI ภาคบริการเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และยูโรโซน


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • หุ้นไทยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่รายงานผลประกอบการไตรมาส 4/66 ออกมาน่าผิดหวัง และกลุ่มโรงไฟฟ้าจากความกังวลในประเด็นที่ภาครัฐอาจพยายามตรึงอัตราค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ การปรับ MSCI Rebalance ซึ่งมีผลในวันที่ 29 ก.พ. 2567 และแรงขายทำกำไรหลังจบช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/66 ส่งผลให้หุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงเทขายหุ้นบิ๊กแคปในหลายอุตสาหกรรม สวนทางกับภาพรวมตลาดหุ้นต่างประเทศที่ขยับขึ้นได้ในช่วงปลายสัปดาห์
  • สัปดาห์ที่ 4-8 มี.ค. 2567 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,360 และ 1,350 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,375 และ 1,385 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ การประชุม ECB ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ยูโรโซนและอังกฤษ ตลอดจนข้อมูลการส่งออกเดือนม.ค.-ก.พ. ของจีน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น