Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 สิงหาคม 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 31 ก.ค. – 4 ส.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้เงินบาทเคลื่อนไหวเป็นกรอบในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนบางส่วนจากความไม่แน่นอนของโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยรอบถัดไปของเฟด ขณะที่ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 2.25% ในช่วงกลางสัปดาห์ พร้อมกับระบุเพิ่มเติมว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามทิศทางค่าเงินหยวน และสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 7-11 ส.ค. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.20-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค. และสถานการณ์การเมืองไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภคเดือนส.ค. ของสหรัฐฯ


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวน ทั้งนี้หุ้นไทยขยับขึ้นในช่วงแรก นำโดย แรงซื้อหุ้นบิ๊กแคป โดยเฉพาะหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งหลังจากผลประกอบการไตรมาส 2/66 ที่ออกมาดีกว่าคาด หุ้นไทยร่วงลงในเวลาต่อมาตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันตามแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดโลกหลังข่าวเกี่ยวกับการปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐฯ โดย Fitch และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ ตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานมีแรงหนุนช่วงท้ายสัปดาห์ โดยมีอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก   
  • สัปดาห์ที่ 7-11 ส.ค. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,515 และ 1,485 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,545 และ 1,560 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ผลประกอบการไตรมาส 2/66 ของบจ.ไทย ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. ของสหรัฐฯและจีน ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 ของอังกฤษ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น