Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 มกราคม 2567

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 2-5 ม.ค. 67)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทพลิกกลับมาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ที่ 34.74 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้เงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ กลับมาทยอยฟื้นตัวขึ้น จากที่เผชิญแรงเทขายมากในสัปดาห์ทำการสุดท้ายของปี 2566 ประกอบกับมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังได้รับแรงหนุน หลังบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค. 2566 และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด สะท้อนว่าสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็ว และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้เฟดมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจนกลับมาสู่ระดับเป้าหมาย
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 8-12 ม.ค. 2567 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.20-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนผลการประชุมธนาคารกลางเกาหลีใต้


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยยังยืนเหนือ 1,400 จุดได้ในสัปดาห์แรกของปี 2567 ทั้งนี้หุ้นไทยดีดตัวขึ้นแรงในวันทำการแรกของปีขานรับปัจจัยบวกจากมาตรการฟรีวีซ่าไทย-จีนเป็นการถาวร ซึ่งกระตุ้นแรงซื้อหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะหุ้นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยาน อย่างไรก็ดีดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงที่เหลือของสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังตอบรับปัจจัยบวกไปพอสมควร ประกอบกับบันทึกการประชุมเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยเมื่อใด อนึ่งหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากการปรับลดน้ำหนักการลงทุนของหุ้นเทคโนโลยีรายใหญ่แห่งหนึ่งของสหรัฐฯ
  • สัปดาห์ที่ 8-12 ม.ค. 2567 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,415 และ 1,400 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,440 และ 1,455 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ การทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 4/66 ของบจ. ไทย ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนยอดค้าปลีกเดือนพ.ย. ของยูโรโซน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น