Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 เมษายน 2567

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 1-5 เม.ย. 67)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 6 เดือนที่ 36.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ตามทิศทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค และแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ตลาดมุ่งความสนใจไปที่ผลการประชุมกนง. ของไทยในวันที่ 10 เม.ย. นี้ ด้านเงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ มีแรงหนุนจากดัชนี ISM ภาคการผลิตเดือนมี.ค.ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งกระตุ้นการคาดการณ์ว่าเฟดไม่น่าจะรีบส่งสัญญาณเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะใกล้ๆ นี้ อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ลดช่วงบวกลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (อาทิ ดัชนี ISM ภาคบริการเดือนมี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน) ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด และอาจมีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันก่อนการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 8-12 เม.ย. 2567 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 36.20-37.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. และสัญญาณแนวโน้มดอกเบี้ยไทย (10 เม.ย.) ผลการประชุม ECB ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 19-20 มี.ค.


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังคงย่อตัวลงต่อจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ ภาพรวมหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบแต่อิงไปทางขาลง โดยนอกจากจะไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนแล้ว ยังมีแรงกดดันจากการปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2567 ของธนาคารโลก รวมถึงแนวโน้มการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงเป็นเวลานานของเฟด หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาค่อนข้างดี ซึ่งปัจจัยลบดังกล่าวกระตุ้นแรงขายหุ้นในหลายกลุ่ม นำโดยกลุ่มแบงก์ เทคโนโลยีและไฟแนนซ์ อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ (แม้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในภูมิภาคจะปรับตัวลง) โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นกลุ่มแบงก์ วัสดุก่อสร้างและพลังงานเข้ามาหนุน อนึ่งสัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นสวนทางภาพรวมตลาด รับอานิสงส์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง  
  • สัปดาห์ที่ 8-12 เม.ย. 2567 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,365 และ 1,350 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,385 และ 1,400 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (10 เม.ย.) ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ของสหรัฐฯและจีน บันทึกประชุมเฟด การประชุม ECB ตลอดจนตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ.ของญี่ปุ่น

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น