Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 ธันวาคม 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 4-8 ธ.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาททยอยอ่อนค่าลง หลังจากที่แข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ท่ามกลางการคาดการณ์ของตลาดว่า มีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ได้แตะจุดสูงสุดของวัฏจักรรอบนี้ไปแล้ว นอกจากนี้เงินบาทยังได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงตามจังหวะการย่อตัวของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่สกุลเงินเอเชียในภาพรวมเผชิญแรงกดดันตามทิศทางเงินหยวน หลัง Moody’s ปรับ outlook ของอันดับเครดิตจีน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนจากแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชั่น ก่อนการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ประกอบกับน่าจะได้รับอานิสงส์ทางอ้อมจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจกลับมาผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีหน้าด้วยเช่นกัน
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 11-15 ธ.ค. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.80-35.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน ตัวเลขประมาณการ และ Dot Plots ของเฟด ผลการประชุม ECB และ BOE สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ รวมถึงข้อมูล PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ อังกฤษ และยูโรโซน


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยปิดใกล้เคียงสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยขยับขึ้นช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อหุ้นบิ๊กแคปในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากกองทุน TESG และคาดการณ์เกี่ยวกับการคงดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมสัปดาห์หน้า หุ้นไทยร่วงลงแรงในเวลาต่อมา ท่ามกลางแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง และหุ้นบิ๊กแคปในกลุ่มเทคโนโลยีจากความกังวลว่าจะหลุดจากการคำนวณดัชนี SET50 และ SET100 อย่างไรก็ดี หุ้นไทยดีดตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยหนุน
  • สัปดาห์ที่ 11-15 ธ.ค. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,365 และ 1,350 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,410 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุม FOMC, BOE และ ECB ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ย.ของสหรัฐฯ รวมถึงดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น