Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 สิงหาคม 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 7-11 ส.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 35.00 ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 35.19 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้เงินบาทอ่อนค่าตามทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย นำโดย เงินหยวนที่เผชิญแรงกดดันจากตัวเลขการส่งออกและนำเข้าของจีนที่หดตัวลงมากกว่าที่คาดในเดือนก.ค. ประกอบกับเงินบาทยังคงมีปัจจัยลบจากแรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติในช่วงระหว่างรอความชัดเจนของประเด็นการเมืองในประเทศ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสัญญาณของเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงให้ความเห็นถึงความจำเป็นของการขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อคุมเงินเฟ้อ ซึ่งล่าสุด แม้ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือนก.ค. จะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาด แต่ยังคงอยู่เหนือระดับเงินเฟ้อเป้าหมายของเฟด อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัดก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 15-18 ส.ค. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.75-35.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัจจัยทางการเมืองของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ การผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ และจีน บันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 25-26 ก.ค. ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดสัปดาห์ก่อน โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันสอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังจีนรายงานตัวเลขส่งออกเดือนก.ค. หดตัวมากกว่าคาดการณ์ อย่างไรก็ดีหุ้นไทยทยอยฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยตอบรับกระแสข่าวเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล (แม้ยังคงต้องติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป) แต่กรอบการปรับขึ้นยังจำกัดเนื่องจากนักลงทุนบางส่วนชะลอการลงทุนก่อนวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ ทั้งนี้หุ้นกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นมากสุด ได้แก่ ไฟแนนซ์ แบงก์ และพลังงานซึ่งยังได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกในระหว่างสัปดาห์  
  • สัปดาห์ที่ 15-18 ส.ค. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,520 และ 1,505 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,560 และ 1,590 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ การผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ และจีน บันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 25-26 ก.ค. ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น