สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท
- เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าตามภาพรวมของสกุลเงินในเอเชีย นำโดย เงินหยวนที่ถูกกดดันจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน หลังข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค. ออกมาอ่อนแอ ประกอบกับมีสัญญาณผ่อนคลายทางการเงิน หลังจากที่ PBOC ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย MLF อายุ 1 ปีลง นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกและสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติในระหว่างรอความชัดเจนของประเด็นทางการเมืองในประเทศ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังขยับแข็งค่าขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ โดยมีแรงหนุนจากบันทึกการประชุมเฟดที่สะท้อนสัญญาณกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ หลังเงินหยวนฟื้นตัวขึ้นบางส่วนตามการส่งสัญญาณผ่านการกำหนดอัตราอ้างอิงเงินหยวนของธนาคารกลางจีน
- สัปดาห์ระหว่างวันที่ 21-25 ส.ค. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.00-35.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 และปัจจัยทางการเมืองของไทย สัญญาณเศรษฐกิจและค่าเงินหยวนของจีน สุนทรพจน์ของประธานเฟดจากงานประชุมสัมมนาประจำปีของเฟดที่แจ็กสัน โฮล การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน ตลอดจนข้อมูล PMI เดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
- ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ โดยในช่วงแรกหุ้นไทยปรับตัวลงเนื่องจากความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจจีนที่มีสัญญาณชะลอตัวลง และธนาคารหลายแห่งของสหรัฐฯ อาจถูกปรับลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือโดยฟิทช์ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงระหว่างสัปดาห์ จากความคาดหวังว่าจะมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ดีหุ้นไทยพลิกร่วงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงกดดันจากการปรับขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และข่าวด้านลบของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน
- สัปดาห์ที่ 21-25 ส.ค. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,505 และ 1,485 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,540 และ 1,560 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 และตัวเลขส่งออกเดือนก.ค. ของไทย สถานการณ์การเมืองในประเทศ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนี PMI เดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนส.ค. ของจีน
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น