Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 ตุลาคม 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 16-20 ต.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาททยอยอ่อนค่าลงตามสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส นอกจากนี้สัญญาณขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมที่กดดันค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากท่าทีของประธานเฟดที่ยังคงกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แม้จะยอมรับว่า การขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินในช่วงที่ผ่านมา อาจลดความจำเป็นของการคุมเข้มทางการเงินต่อเนื่องของเฟดก็ตาม
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 23-27 ต.ค. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 36.10-36.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย. ของไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางสกุลเงินเอเชีย สถานการณ์ในอิสราเอล อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี PCE/Core Price Indices เดือนก.ย. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 (advanced) ของสหรัฐฯ ผลการประชุม ECB ตลอดจนดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษและสหรัฐฯ  


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงหลุดแนว 1,400 จุด โดยภาพรวมหุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อนสอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศท่ามกลางความกังวลว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลจะยืดเยื้อ แม้ผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยจะยังจำกัดก็ตาม นอกจากนี้ บรรยายกาศการลงทุนยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ตลอดจนโอกาสของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และท่าทีของประธานเฟดที่มีความกังวลต่อทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งยังอยู่ในระดับสูง หุ้นไทยปรับตัวลงถ้วนหน้าในช่วงปลายสัปดาห์ นำโดย ไฟแนนซ์ เทคโนโลยี วัสดุก่อสร้าง และกลุ่มแบงก์  
  • สัปดาห์ที่ 23-27 ต.ค. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,390 และ 1,370 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,415 และ 1,440 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนก.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของบจ.ไทย ดัชนี PCE/Core PCE Indice เดือนก.ย. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ของสหรัฐฯ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนการประชุม ECB

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น